ทุกวันที่ 14 ของเดือนมีนาคม เป็นวันสำคัญของคนที่ชอบคณิตศาสตร์ เพราะเดือน 3 วันที่ 14 เขียนย่อๆ ได้ว่า 3-14 หรือแปลงต่อเป็นเลขทศนิยม 3.14 ซึ่งเป็นค่าคร่าวๆ ของ Pi (π)
เสน่ห์ของค่า Pi คือมีจุดทศนิยมที่ไม่สิ้นสุด และไม่มีเหตุผลมาอธิบายได้ คนอเมริกันที่เห็นเสน่ห์นี้เรียกวันที่ 14 เดือนมีนาคมว่า Pi Day
นักคณิตศาสตร์หนุ่ม Daniel Tammet เคยอธิบายเกี่ยวกับ Pi Day ในรายการทอล์คโชว์ของ David Letterman เมื่อหลายปีก่อน เขาบอกว่าครั้งหนึ่งผู้หลงเสน่ห์ค่า Pi ร่วมระดมทุนจัดกิจกรรมท่องค่า Pi ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านการเรียนรู้
ตัวเขาเองมีพรสรรค์จำตัวเลขได้อย่างแม่นยำ คือสามารถท่องค่า Pi ไปจนถึงหลักทศนิยมที่สองหมื่นกว่าเป็นเวลาห้าชั่วโมง
คนที่ชอบความแปลกของค่า Pi ยังเคยแต่งเพลงให้กับตัวเลขนี้ด้วย อย่างไรก็ตามจำนวนค่าทศนิยมของ Pi มีทั้งหมดมากกว่าหนึ่งล้านล้านหลัก ดังนั้นหากใครต้องการแต่งเพลง Pi ให้สมบูรณ์ เพลงนั้นคงจะเป็นเพลงที่ไม่มีวันจบ
นอกจากเรื่องสนุกๆ เหล่านี้แล้ว คงยังไม่ลืมสูตรคณิตศาสตร์ที่เคยเรียนที่เราใช้ประโยชน์จาก Pi ในการคำนวณพื้นที่และมวลของรูปทรงกลม
แม้ว่าค่า Pi จะเป็นที่ทราบกันมานับพันปี นักคณิตศาสตร์เพิ่งให้อักษร Pi (π) ของกรีกเมื่อราวๆ 400 ปีเท่านั้น ส่วนคนอเมริกันเริ่มฉลอง Pi Day อย่างจริงจังเมื่อ 28 ปีก่อน ด้วยการจัดพาเหรดและอบขนมพาย
การฉลองที่มีสีสันเกิดขึ้นทั้งสองฝั่งของประเทศคือที่เขตนคร San Francisco และบริเวณมหาวิทยาลัย Princeton ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่ง Albert Einstein เคยอาศัยอยู่ เพราะเขาบังเอิญเกิดวันที่ 14 มีนาคมด้วย
(รายงานโดยห้องข่าววีโอเอ/ เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)