ทีมนักวิจัยใช้ 'สายด่วนฮอทไลน์' เฝ้าระวังการระบาดของไข้เลือดออกในปากีสถาน

FILE - A woman holds her son, suffering from dengue fever, as she sits under a mosquito net inside a dengue ward of a local hospital in Rawalpindi, Pakistan.

สายฮอทไลน์ช่วยพยากรณ์การระบาดของไข้เลือดออกในปากีสถานได้ล่วงหน้า

Your browser doesn’t support HTML5

Phone Hotline Dengue Fever

ในปี ค.ศ. 2011 จังหวัดปัญจาบของปากีสถานประสบกับการระบาดของไข้เลือดออกรุนแรงอย่างที่ไม่คาดคิดกันมาก่อน และทำให้คนติดเชื้อมากกว่า 21,000 คน มีคนเสียชีวิต 350 ราย

ประมาณว่ามีคนทั่วโลกราว 2 พัน 5 ล้านคน ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกซึ่งผู้ติดเชื้อมีไข้ขึ้นสูง ปวดศรีษะรุนแรง และปวดตามข้อกระดูกและกล้ามเนื้อร่วมด้วย โดยเชื้อไข้เลือดออกที่มียุงเป็นพาหะยังไม่มีวิธีรักษาและวัคซีนป้องกัน

การระบาดของไข้เลือดออกอย่างรุนแรงในจังหวัดปัญจาบของปากีสถานห้าปีที่แล้วทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด เต็มไปด้วยผู้ป่วยไข้เลือดออก เพราะไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคนี้

และตั้งเเต่นั้นเป็นต้นมา ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ และในปากีสถาน ได้พัฒนาสายโทรศัพท์ helpline เพื่อช่วยคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความรุนแรงของการระบาดของไข้เลือดออก

ทีมนักวิจัยได้พัฒนาระบบคำนวณทางคอมพิวเตอร์ที่ป้อนข้อมูลที่ได้จากประชาชนที่โทรศัพท์ถึงสาย helpline ที่ตั้งขึ้น เข้าสู่ระบบการคำนวณ มาจนถึงขณะนี้ มีประชาชนโทรเข้าถึงสาย helpline นี้เเล้ว 300,000 คน เพื่อสอบถามเกี่ยวกับอาการของโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ผู้โทรฯ ยังแจ้งเกี่ยวกับพื้นที่ที่ยังมีน้ำขังหรือท่อน้ำทิ้งเเบบเปิด ที่อาจเป็นเเหล่งเพาะพันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะของไข้เลือดออก

คุณ Lakshmi Subramanian ผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัย New York และผู้ร่างรายงานอาวุโส กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้จากจำนวนผู้โทรศัพท์เข้าสาย helpline ทีมนักวิจัยสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดการระบาดของไข้เลือดออกล่วงหน้าได้อย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ และยังสามารถระบุจำนวนผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกแต่ละจุดของเมืองได้ค่อนข้างเเม่นยำ

คุณ Subramanian กล่าวว่า การศึกษาด้วยวิธีนี้ช่วยคำนวณได้ว่า ในแต่ละพื้นที่จุดต่างๆ ทั่วจังหวัดจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อระหว่าง 5-7 คน ภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า หรือ อาจจะมีคนติดเชื้อ 17-19 คน ใน 2-3 สัปดาห์ต่อไป เป็นวิธีคาดคะเนที่มีประโยชน์ในการช่วยเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่าการคาดคะเน ที่บอกเพียงว่าจะเกิดการระบาด หรือจะไม่เกิดการระบาด

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ระบบการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ในการพยากรณ์ความเป็นไปได้ของการระบาดของไข้เลือดออกนี้ ปรากฏในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances

ทุกปีมีคนติดเชื้อไข้เลือดออกทั่วโลก 400,000 คน ข้อมูลจากระบบคำนวณทางคอมพิวเตอร์นี้สามารถเผยเเพร่เเก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยในการเตรียมตัวรับมือกับการระบาดของไข้เลือดออก ทีมผู้ร่างผลการศึกษาชี้ว่าระบบที่ใช้ข้อมูลจากสายโทรศัพท์ hotline นี้ ประหยัดค่าใช้จ่ายและไม่จำเป็นต้องใช้ทีมงานในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อ

คุณ Nabeel Abdur Rehman หัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษากล่าวว่า โทรศัพท์ hotline ยังสามารถช่วยระบุความเป็นไปได้ของการระบาดของเชื้อโปลิโอได้ด้วย ซึ่งยังระบาดในปากีสถานเเละแอฟกานิสถานแม้จะไม่พบในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเเล้วก็ตาม

ด้านคุณ Rehman นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย New York กล่าวว่า สามารถนำระบบนี้ไปปรับใช้กับการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อมาลาเรียและไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย

คุณ Rehman กล่าวว่า ระบบนี้นำไปปรับใช้ได้กว้างขวาง สามารถนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ของประเทศหรือในประเทศอื่นๆ ได้ เพราะประหยัดและใช้ได้กับการระบาดของโรคอื่นๆ ได้ด้วย

ทีมงานวิจัยชี้ว่า สืบเนื่องมาจากข้อมูลที่ได้จากสาย helpline และความพยายามป้องกันการระบาดของโรค จำนวนคนติดเชื้อไข้เลือดออกที่เมืองลาฮอร์ในปากีสถานลดลงไปอยู่ที่ 1,600 คนในปี 2013

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)