ทีมนักวิจัยรู้ข้อเท็จจริงสองประการเกี่ยวกับผู้ป่วยมาลาเรียขึ้นสมอง อย่างเเรกคือผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะหัวใจหยุดเต้น และอย่างที่สองผู้ป่วยมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ด็อกเตอร์ Terrie Taylor ผู้เชี่ยวชาญแห่ง Michigan State University อธิบายว่าสมองของผู้ป่วยเกิดอาการบวมและดันลงไปที่ฐานของกระโหลกจนไปกดที่ก้านสมอง
ด็อกเตอร์ Taylor กล่าวว่าก้านสมองเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางของระบบทางเดินหายใจและเมื่อถูกกดอย่างรุนแรงจากเนื้อสมองที่บวม ก็จะทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว แต่หลังจากทำการชันสูตรสมองของผู้เสียชีวิตจากอาการสมองบวมเนื่องจากติดเชื้อมาลาเรีย ทีมนักวิจัยไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันทฤษฎีดังกล่าว ดังนั้นทีมงานจึงหันไปใช้การสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ MRI แทน โดยใช้สแกนสมองของผู้ป่วยมาลาเรียที่ยังมีชีวิต
ด็อกเตอร์ Taylor กล่าวว่าทีมงานทำการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศมาลาวีโดยทำการเฝ้าติดตามผู้ป่วยมาลาเรียที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล Queen Elizabeth Hospital ใน Blantyre หลังจากทางโรงพยาบาลได้รับบริจาคเครื่องสแกนสมอง MRI จากบริษัท General Electric ในปีพุทธศักราช 2551 ช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถเปรียบเทียบผลการสแกนสมอง MRI ระหว่างผู้ป่วยมาลาเรียที่รอดชีวิตกับผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคนี้
ด็อกเตอร์ Taylor กล่าวว่าผลการสแกนสมองผู้ป่วยมาลาเรียที่เสียชีวิตชี้ว่าผู้ป่วยมีอาการสมองบวมอย่างรุนแรง ในขณะที่ผู้ป่วยมาลาเรียที่รอดชีวิตมีอาการสมองบวมในระดับที่ไม่รุนแรงมาก
การวิจัยนี้ช่วยระบุได้ว่าผู้ป่วยสมองบวมจากเชื้อมาลาเรียเสียชีวิตอย่างไร ด็อกเตอร์ Taylor กล่าวว่าในขั้นต่อไป ทีมงานจะพยายามค้นหาสาเหตุว่าอะไรทำให้สมองของผู้ป่วยมาลาเรียเกิดอาการบวมเพื่อหาทางรักษาอาการบวม
ในขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยยังต้องการศึกษาด้วยว่าผู้ป่วยจะรอดชีวิตหรือไม่หากทดลองติดเครื่องช่วยหายใจในผู้ป่วยนานสองถึงสามวันในช่วงที่เกิดอาการบวมในสมอง ทีมนักวิจัยเชื่อว่าเครื่องช่วยหายใจอาจจะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้ในช่วงที่ก้านสมองถูกกดจากเนื้อสมองเพราะอาการบวมที่รุนแรง