ศาลฟิลิปปินส์ยกฟ้องคดีเลี่ยงภาษี ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์-เจ้าของรางวัลโนเบล

PHILIPPINES-MEDIA/

ศาลในกรุงมะนิลายกฟ้องผู้สื่อข่าวและเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ชาวฟิลิปปินส์ ในข้อหาเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายคดีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งฟ้อง ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

คำพิพากษาที่มีออกมาในวันพุธตามเวลาในฟิลิปปินส์ ถือเป็นชัยชนะของ มาเรีย เรสซา วัย 59 ปี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. 2021 ที่เผชิญกับคดีต่าง ๆ มากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเธอระบุว่า เป็นความพยายามที่จะข่มขู่เธอ

เรสซา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Rappler มีชื่อเสียงจากการทำรายงานข่าวเชิงลึกมากมาย และการตรวจสอบอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตรเต รวมทั้ง นโยบายปรามปรามยาเสพติดของอดีตผู้นำรายนี้ที่ใช้มาตรการรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน

เรสซา บอกกับผู้สื่อข่าวหลังรับฟังคำพิพากษาว่า “การยกฟ้องนี้ไม่ใช่เพียงสำหรับ Rappler เท่านั้น แต่ยังสำหรับชาวฟิลิปปินส์ทุกคนที่เคยถูกกล่าวหาอย่างไม่ยุติธรรม” โดยระบุด้วยว่า นี่คือชัยชนะของความยุติธรรมและความจริง

เธอกล่าวว่า “ข้อหาเหล่านี้ ... มีแรงจูงใจทางการเมือง ... เป็นการใช้อำนาจในทางที่ผิดอย่างไร้ยางอาย”

ข้อหาเลี่ยงภาษีที่มีการสั่งฟ้องเรสซานี้มีที่มาจากคำกล่าวหาของกรมสรรพากรฟิลิปปินส์ที่อ้างว่า เว็บไซต์ Rappler ละเลยที่จะระบุรายละเอียดของการขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt) ในปี ค.ศ. 2015 ให้กับนักลงทุนต่างชาติในรายงานการคืนภาษี โดยต่อมา ประเด็นนี้กลายมาเป็นมูลฐานให้หน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ยกเลิกใบอนุญาตประกอบการของสื่อนี้

กระทรวงยุติธรรมฟิลิปปินส์บอกกับผู้สื่อข่าว ทางกระทรวงฯ เคารพในคำตัดสินของศาล

ปัจจุบัน เรสซา อยู่ในระหว่างการประกันตัวเพื่ออุทธรณ์คำพิพากษาลงโทษจำคุกเธอเป็นเวลา 6 ปีในข้อหาหมิ่นประมาทที่ศาลตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 2020

SEE ALSO: ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์-เจ้าของรางวัลโนเบล ประกาศสู้คดีหมิ่นประมาทในศาลสูง

เจ้าของรางวัลโนเบลสัญชาติฟิลิปปินส์รายนี้ต้องต่อสู้กับคดีมากมายที่รัฐบาลดำเนินการต่อเธอ อันนำมาซึ่งความกังวลใจจากหลายฝ่ายทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์การข่มขู่สื่อในประเทศนี้ ซึ่งถูกจัดให้เป็นที่ ๆ อันตรายที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียสำหรับสื่อมวลชน

รายงาน World Press Freedom Index ปี 2022 จัดให้ฟิลิปปินส์อยู่ที่อันดับ 147 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ขณะที่ Committee to Protest Journalists จัดให้ประเทศนี้อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลกในรายงานดัชนีว่าด้วยกรณีผู้ทำผิดโดยไม่ได้รับโทษ (impunity index) ปี 2021 ซึ่งติดตามรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของสื่อมวลชนที่ผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกนำตัวมารับโทษ

  • ที่มา: รอยเตอร์