เกาะติดสถานการณ์ทะเลจีนใต้! เมื่อฟิลิปปินส์กับจีนตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

Philippine President Benigno Aquino III poses with Chinese President Xi Jinping who is hosting a welcome dinner for APEC leaders, and his wife Peng Liyuan, at the Beijing National Aquatics Center in Beijing, Monday, Nov. 10, 2014. (AP Photo/Ng Han Guan)

จีนต้องการสื่อให้เห็นว่าจีนกำลังก้าวหน้า แสวงหาสันติภาพ และฟิลิปปินส์ควรจะมาเข้าพวกด้วยเพราะจีนคืออนาคต

Your browser doesn’t support HTML5

ฟิลิปปินส์กับจีนจะกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน

ฟิลิปปินส์กล่าวว่าจะกลับไปฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีกับจีนอีกครั้งหนึ่ง หลังความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการกล่าวอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

คำประกาศจากฟิลิปปินส์ในเรื่องนี้มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงมนิลา ซึ่งคาดว่าประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีนจะไปร่วมการประชุมด้วย

นาย Charles Jose โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวถึงการพบหารือระหว่างรัฐมนตรี Albert del Rosario ของฟิลิปปินส์ กับรัฐมนตรี Wang Yi ของจีนเมื่อวันอังคารว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่หยิบยกเรื่องทะเลจีนใต้ที่ทั้งสองประเทศอ้างสิทธิ์อธิปไตยทับซ้อนกันอยู่มาพูดในการประชุม APEC ในสัปดาห์หน้า

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์กล่าวว่า รัฐมนตรี del Rosario ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐมนตรี Wang Yi เดินทางเยือนฟิลิปปินส์ และถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน

เขายืนยันว่าคณะผู้แทนจีนกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า จะไม่พูดเรื่องทะเลจีนใต้ และว่าภารกิจของคณะฯ คือการปูทางเพื่อให้การเยือนฟิลิปปินส์ของประธานาธิบดี Xi Jinping ราบรื่นปลอดภัยและประสบความสำเร็จ

ทางฝ่ายฟิลิปปินส์ก็ได้ให้คำมั่นไว้ด้วยว่าจะไม่นำเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นมาเป็นประเด็น

เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ได้ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการสากลขอให้พิจารณาความถูกต้องตามกฎหมายของการอ้างสิทธิ์อธิปไตยของจีนเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมทั้งขอให้มีการชี้แจงในเรื่องการหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพื้นที่บางลักษณะในทะเลจีนใต้ด้วย

ในช่วงเวลาหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา จีนได้ถมทะเลขยายพื้นที่สร้างเกาะขึ้นมาแล้วอย่างน้อยหกแห่งในทะเลจีนใต้ นอกจากจีนและฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีบรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน และเวียดนามที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไว้ในทะเลจีนใต้ ประเทศเหล่านี้เป็นภาคีของ APEC

แต่จีนได้ปฏิเสธที่จะให้นำอนุญาโตตุลาการสากลเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องทะเลจีนใต้มาตลอด

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปิน์ให้คำอธิบายว่า ที่ฟิลิปปินส์ไม่ต้องการหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการประชุมของ APEC ก็เพราะอนุญาโตตุลาการสากลกำลังพิจารณาเรื่องตามคำร้องของฟิลิปปินส์ และที่ประชุม APEC ไม่เหมาะสมกับเรื่องนี้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Li Baodong เห็นด้วย เขาบอกว่า ที่ประชุม APEC เป็นที่ที่จะหารือเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกเป็นหลัก

แต่นาย Charles Jose โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวไว้ด้วยว่า ชาติภาคี APEC อื่นๆมีเสรีภาพที่จะพูดเรื่องทะเลจีนใต้ได้ในการประชุมนอกรอบ

ประธานาธิบดี Benigno Aquino ของฟิลิปปินส์ มีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำชาติต่างๆไว้ถึง 11 ราย ซึ่งรวมทั้งผู้นำของเวียดนาม ญี่ปุ่นและสหรัฐด้วย

ศาสตราจารย์ Carl Thayer ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงของ Australian Defense Force Academy ให้ความเห็นว่าการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์กับจีนคงจะสั้นทีเดียว นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ทางฝ่ายจีนก็ต้องการสื่อข้อความว่าไม่ควรเพ่งความสนใจไปที่เกาะที่จีนถมทะเลสร้างขึ้นมา

แต่ควรมองภาพโดยรวม ซึ่งก็คือจีนกำลังก้าวหน้า แสวงหาสันติภาพ และฟิลิปปินส์ควรจะมาเข้าพวกด้วย เพราะจีนคืออนาคต

อาจารย์ Carl Thayer ให้ความเห็นส่งท้ายว่า การที่ประธานาธิบดี Xi Jinping เดินทางเยือนเวียดนามและพบหารือกับประธานาธิบดี Ma Ying-jeou ของไต้หวันที่สิงคโปร์ ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา ก็เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากโครงการถมทะเลสร้างเกาะของจีนในทะเลจีนใต้