สัปดาห์นี้คณะผู้ทำงานด้านกฏหมายของฟิลิปปินส์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ จะพยายามโน้มน้าวให้คณะอนุญาโตตุลาการของศาลโลกที่กรุงเฮก ตัดสินใจในกรณีที่ฟิลิปปินส์ยื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้
ก่อนเดินทาง คณะกฏหมายของฟิลิปปินส์กล่าวแสดงความม่ั่นใจว่าคณะอณุญาโตตุลาการจะตัดสินให้ฟิลิปปินส์มีสิทธิชอบธรรมในกรณีนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ Charles Jose' กล่าวว่าสิ่งที่ฟิลิปปินส์นำเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ คือข้อเท็จจริงที่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทางทะเล และว่าสำหรับฟิลิปปินส์ กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน แต่เป็นไปตามกฏหมายและข้อบังคับทางทะเล ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการชุดนี้
ฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้นั้น "มากเกินไป กว้างขวางเกินไป และไม่เป็นไปตามกฏหมายระหว่างประเทศ" หลังจากที่จีนใช้แผนที่จุดไข่ปลาและข้อมูลในอดีต ในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำและหมู่เกาะซึ่งฟิลิปปินส์บอกว่าอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ จนก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จีนมิได้ส่งผู้แทนไปกรุงเฮกในสัปดาห์นี้ เนื่องจากที่ผ่านมาจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาของฟิลิปปินส์และปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการพิจารณาคดี และเมื่อสัปดาหที่แล้วรัฐบาลจีนยังบอกด้วยว่า ฟิลิปปินส์กำลังพยายามยั่วยุทางการเมือง นอกจากนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว จีนยังได้เปิดเผยเอกสารยืนยันจุดยืนของจีนว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการชุดนี้
อาจารย์ Carl Thayer นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจาก University of New South Wales ให้ความเห็นว่ายังคงมีคำถามมากมาย เช่น คณะอนุญาโตตุลาการจะกล้ามีคำตัดสินในประเด็นสำคัญนี้หรือไม่? หรือจะผลักดันเรื่องนี้จนถึงที่สุดหรือไม่? หรือจะตัดสินเอนเอียงไปทางฟิลิปปินส์หรือจีนหรือเปล่า?
นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า ความสำคัญของคดีนี้คือเป็นการทดสอบทางกฏหมายต่อจุดยืนของจีน ถึงกระนั้นแม้ทางอนุญาโตตุลาการจะมีคำตัดสินซึ่งมีข้อผูกพันทางกฏหมาย แต่ก็จะไม่มีผลบังคับหรือบทลงโทษแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าว Simone Orendain รายงานจากกรุงมะนิลา / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง