"จีน" ยอมถือหุ้นส่วนน้อยในโครงการสำรวจพลังงานในทะเลจีนใต้ร่วมกับ "ฟิลิปปินส์"

Protesters shout slogans while displaying small catch during a rally at the Chinese Consulate in the financial district of Makati city to protest alleged continued seizure of catches of Filipino fishermen at a disputed shoal in the South China Sea.

Your browser doesn’t support HTML5

จีนยอมถือหุ้นส่วนน้อยในโครงการสำรวจพลังงานในทะเลจีนใต้กับฟิลิปปินส์

สื่อต่างประเทศระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ นายอลัน ปีเตอร์ คาเยตาโน (Alan Peter Cayetano) ระบุเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมว่า จีนและรัฐบาลกรุงมะนิลาตกลงกันได้เรื่องส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ในโครงการสำรวจแหล่งพลังงานบริเวณพื้นที่ทับซ้อนของสองประเทศในทะเลจีนใต้

รายงานชี้ว่า จีนยอมรับส่วนแบ่งรายได้ 40 เปอร์เซ็นต์ และฟิลิปปินส์จะได้เงินที่เหลือ 60เปอร์เซ็นต์ จากโครงการใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งเกาะพาลาวันของฟิลิปปินส์

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่จีนรับได้กับส่วนแบ่งที่น้อยกว่าอาจช่วยให้จีนดูดีในสายตาผู้ที่วิจารณ์การขยายอำนาจของกรุงปักกิ่งในทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความไม่ไว้ใจจีนในสายตาของชาวฟิลิปปินส์ ตามข้อมูลของการทำสำรวจความคิดเห็นประชาชน

ก่อนหน้านี้ จีนและฟิลิปปินส์ต่อสู้ทางกฎหมายอย่างดุเดือดเพื่ออ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งฝ่ายกรุงมะนิลาชนะคดีเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ศาลระหว่างประเทศ

อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มาเรีย เอลา อะเทียนซา (Maria Ela Atienza) แห่ง University of the Philippines Diliman กล่าวว่า แม้ครั้งนี้จีนยอมถือหุ้นส่วนน้อย แต่ย่อมมีผู้กล่าวได้ว่า หากพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของฟิลิปปินส์ เหตุใดจึงปล่อยให้จีนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เห็นว่า หากฟิลิปปินส์ต้องการผู้ร่วมทุนที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสำรวจพลังงาน ก็ยังมีบริษัทจากประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ที่พร้อมจะเป็นคู่สัญญา โดยไม่มีประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางดินแดนมาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ เคยกล่าวว่า ที่ต้องสมานสัมพันธ์กับจีน เพราะหากเกิดสงครามขึ้น ฟิลิปปินส์ไม่มีทางชนะจีนได้

ก่อนหน้านี้ กองเรือของจีนผลักไสเรือประมงฟิลิปปินส์ออกจากเขตสันดอนสกาโบโร โชล (Scarborough Shoal) ใกล้กับเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนนำมาซึ่งการยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และศาลตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์เมื่อ 2 ปีก่อน

ฝ่ายจีนเองอาจเห็นว่า การถือหุ้นส่วนน้อยแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและหวังที่จะช่วยลดความตึงเครียดในเรื่องนี้ที่มีมาในอดีต

นอกจากนี้ จีนอาจต้องการส่งสัญญาณนี้ไปกับประเทศในอาเซียนอื่นๆ ที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนอยู่กับรัฐบาลปักกิ่งอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ เวียดนาม บรูไนและมาเลเซีย

อาจารย์อลัน ชง (Alan Chong) แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies ที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกกับประเทศอาเซียน มีความสำคัญต่อเป้าหมายของจีนที่จะให้เกิดความตกลงสำหรับกรอบปฏิบัติต่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ประประเทศในภูมิภาคนี้ ที่คาราคาซังมานาน

เขาบอกด้วยว่า จีนอาจจะต้องการใช้เรื่องนี้ส่งสัญญาณถึงความเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือรูปแบบใหม่ต่อประเทศผู้รับ

อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการที่ให้ข้อคิดอีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับคำสัญญาจากประเทศจีน

เกรกอรี โพลลิ่ง (Gregory Polling) ผู้อำนวยโครงการ Asia Maritime Transparent Initiative ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า บางครั้งจีนก็ไม่ค่อยมีชื่อเสียงที่ดีนักในเรื่องการทำตามคำมั่นเรื่องการลงทุน เพราะเคยเห็นข่าวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่าจีนจะมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ แต่เมื่อถือเวลาลงเงิน กลับไม่เป็นไปตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านั้น

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)