ปัญหา "สมองไหล" กำลังสร้างความกังวลเรื่องคุณภาพการศึกษาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในอเมริกา

Wall Street Journal รายงานว่าอัตราส่วนผู้จบปริญญาเอกวิศวกรรมคอมฯ ที่ทำงานด้านวิชาการแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

Your browser doesn’t support HTML5

PHD Brain Drain

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในอเมริกาได้เพิ่มขนาดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์หรือ Computer Science เพื่อรับนักเรียนจำนวนมากขึ้นที่หลั่งไหลมาสนใจสาขานี้ ซึ่งมีงานรองรับมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจเทคโนโลยี

หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า บางหลักสูตรเพิ่มจำนวนรับนักเรียนถึงสามเท่าในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บุคลากรที่จะมาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จำนวนมากถูกดึงตัวไปทำงานที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ จนทำให้หลายคนเป็นห่วงถึงคุณภาพการเรียนการสอน และบทบาทของสถาบันการศึกษาในฐานะเป็นเหล่งค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่ๆ

Wall Street Journal รายงานว่า เมื่อเดือนที่แล้ว Google จ้าง อาจารย์ Fei-Fei Li ผู้อำนวยการห้องทดลองภูมิปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ของมหาวิทยาลัย Stanford ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อไปทำงานเป็นหัวหน้าทีม AI ที่เพิ่งถูกก่อตั้งขึ้นของ Google

สถานการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้นกับคณาจารย์ในวงการเทคโนโลยีของสถาบันอื่นๆ ด้วย เช่นอาจารย์ Geoffrey Hinton จากมหาวิทยาลัย Toronto ที่ไปร่วมงานกับ Google และ Yann LeCun จากมหาวิทยาลัย New York ที่เข้าเป็นพนักงานของ Facebook และยังมี Alex Smola ที่อำลางานที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เพื่อเข้าทำงานที่ Amazon.com

Wall Street Journal ระบุว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ดึงดูดใจอาจารย์สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ กล่าวคือ นอกจากรายได้ที่มากกว่าแล้ว บุคลากรเหล่านี้ยังได้แก้ปัญหาที่กระตุ้นความคิดจากฐานข้อมูลที่ใหญ่ และยังมีเครื่องมือการวิเคราะห์ที่ล้ำสมัย

นอกจากนั้น การเข้าร่วมงานกับบริษัทที่จ่ายตอบแทนบางส่วนด้วยหุ้น หมายถึงโอกาสที่ทำให้อาจารย์เหล่านี้กลายเป็นเศรษฐีได้อย่างรวดเร็ว

การที่บริษัทไฮเทคยอมทุ่มงบประมาณจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแนวหน้า ย่อมมีเหตุผลทางธุรกิจเป็นแรงจูงใจ

คณบดีของคณะ Computer Science ที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon อาจารย์ Andrew Moore บอกกับ Wall Street Journal ว่าผู้มีความรู้ด้านภูมิปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทต่างๆ ในระดับ 5 ล้านถึง 10 ล้านดอลลาร์

องค์กร National Science Foundation เปิดเผยว่า จำนวนผู้จบปริญญาเอกในสหรัฐฯ ที่ไปร่วมงานกับภาคเอกชน แทนที่จะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 57 เทียบกับร้อยละ 38 เมื่อ 10 ปีก่อน

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ จำนวนด็อกเตอร์สาขาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ ขณะนี้สูงสุดเป็นสถิติใหม่ แต่สัดส่วนของผู้ทำงานในวงการวิชาการด้านนี้กลับอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามสถิติของ Computing Research Association ในบทความของ Wall Street Journal

ความกังวลเรื่องสถานการณ์สมองไหล ทำให้บางคนมองว่างานวิชาการที่มีน้อยลงเป็นปัจจัยที่กดการคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบการแสวงหากำไรของบริษัท

แต่ดูเหมือนว่าภาคเอกชนมีความกังวลในเรื่องนี้เช่นกัน

บริษัทเช่น Microsoft Google IBM และ Facebook ได้สนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง และช่วยเรื่องการอบรมบุคลากรด้วย

ในเวลาเดียวกันนี้ สถาบันต่างๆ ก็ยืดหยุ่นให้คณาจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์สามารถทำงานที่บริษัทเทคโนโลยีได้ โดยไม่จำเป็นต้องสละตำแหน่งทางวิชาการและงานด้านการสอนที่มหาวิทยาลัย

(รายงานโดย The Wall Street Journal / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)