ไฟเซอร์ เริ่มทดลองวัคซีนสำหรับไวรัสโอมิครอนโดยเฉพาะ

FILE - Combination of file photographs with the logo of Pfizer at the production site of the COVID-19 vaccine in Puurs, Belgium, and a logo of BioNTech at the headquarters of the company in Mainz, western Germany.

บริษัทเวชภัณฑ์ ไฟเซอร์ (Pfizer) จากสหรัฐฯ ประกาศเริ่มความร่วมมือกับ บริษัท ไบโอเอนเท็ค จากเยอรมนี ในการทำการทดลองทางคลินิกสำหรับวัคซีนโควิด-19 สูตรใหม่สำหรับการรับมือการระบาดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะ

คำประกาศเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองบริษัทยานี้มีออกมาในวันอังคาร และระบุว่า จะมีการทดสอบวัคซีนทั้งสำหรับโดสตั้งต้นและบูสเตอร์กับอาสาสมัครที่มีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 55 ปีและมีสภาพร่างกายสมบูรณ์จำนวนกว่า 1,400 คน

รายงานข่าวระบุว่า โครงการทดสอบวัคซีนใหม่นี้จะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกคือ ผู้ได้รับวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันทั้ง 2 เข็มมาแล้ว และจะรับวัคซีนโควิดโอมิครอนจำนวน 1 หรือ 2 เข็มในระหว่างการทดลอง ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนสูตรปัจจุบันทั้ง 2 เข็มและวัคซีนบูสเตอร์แล้ว และจะเข้ารับวัคซีนสูตรใหม่จำนวน 1 หรือ 2 เข็ม ขณะที่ กลุ่มที่ 3 จะเป็นอาสาสมัครที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว แต่จะได้รับวัคซีนสูตรสำหรับโอมิครอนทั้ง 3 เข็มระหว่างเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ โครงการทดลองวัคซีนสำหรับเชื้อโอมิครอนของไฟเซอร์-ไบโอเอนเท็ค เริ่มต้นขึ้น หลังมีรายงานการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งเท็กซัส ร่วมกับบริษัทยาทั้ง 2 แห่งที่ชี้ว่า ระดับแอนตี้บอดี้จากการรับวัคซีนบูสเตอร์นั้นอยู่ในระดับที่สูงในการป้องกันการติดเชื้อรุนแรงเป็นเวลา 4 เดือน โดยรายงานนี้ได้รับการเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาตรวจทานโดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ใดๆ อย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตาดูไวรัสโอมิครอนที่กลายพันธุ์ใหม่อีกชนิดอย่างใกล้ชิด หลังมีการตรวจพบแล้วใน 49 ประเทศเป็นอย่างน้อย

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า BA.2 และถูกตรวจพบในอังกฤษ เดนมาร์ก อินเดีย นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดน และสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมกราคมนี้เอง

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเดนมาร์กกล่าวว่า ไวรัส BA.2 นี้ ปรากฏตัวขึ้นมาแทนที่ไวรัสโอมิครอนตัวดั้งเดิม หรือ BA.1 ทั้งยังเป็นสาเหตุของการติดเชื้อใหม่ถึงเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศ ขณะที่ หน่วยงานความมั่นคงด้านสาธารณสุขของอังกฤษ จัดไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็น “สายพันธุ์ที่กำลังอยู่ในการสืบสวนอยู่”

นักวิจัยยังเรียกไวรัสใหม่นี้ว่าเป็น “โอมิครอนล่องหน” เพราะการตรวจสอบสายพันธุ์ด้วยการทดสอบแบบ PCR นั้นทำได้ยากกว่าที่เคย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าไวรัสโอมิครอนดั้งเดิม

  • ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอเอฟพี