Your browser doesn’t support HTML5
การโต้อภิปรายระหว่างคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในการเลือกตั้งสหรัฐฯ เป็นอีกกิจกรรมการเมืองหนึ่งที่ได้รับผลกะทบจากการกระบาดของโควิด-19
ในค่ำคืนนี้ตามเวลาสหรัฐฯ รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และวุฒิสมาชิกคามาลา แฮร์ริส จะขึ้นดีเบตที่เมืองซอลท์เลคซิตี้ รัฐยูทาห์
มีปัจจัยที่ทำให้ผู้คนจะจับตาดูทั้งคู่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องความพร้อมหากสถานการณ์ส่งผลให้ผู้เป็นรองประธานาธิบดี ต้องทำหน้าที่แทนผู้นำประเทศ กล่าวคือ ขณะนี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์วัย 74 ปียังคงพักฟื้นหลังการรักษาอาการจากโควิด-19 และนายโจไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมเเครตก็มีอายุ 77 ปี
รองประธานาธิบดีเพนซ์ วัย 61 ปี เคยเป็น ส.ส.และผู้ว่าการรัฐอินเดียนา ช่วงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ป่วยจากโคโรนาไวรัส เขาทำภารกิจหลายอย่างในการหาเสียงแทน
ส่วน ส.ว.คามาลา แฮร์ริส อดีตอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย วัย 55 ปี ลงเลือกตั้งครั้งนี้พร้อมความหวังที่จะกำชัยซึ่งจะทำให้เธอเป็นสตรีคนเเรก และผู้มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันคนเเรกที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ท็อดด์ เบลท์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาด้านการบริหารจัดการทางการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวว่า เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าจะมีการดีเบตระหว่างทรัมป์และไบเดนอีกหรือไม่ คนจึงสนใจการโต้อภิปรายของเพนซ์และแฮร์ริสในคืนวันพุธนี้
เขากล่าวว่าความสนใจยังเกิดขึ้นเป็นพิเศษเพราะคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต่างมีอายุกว่า 70 ปีทั้งคู่ โดยเฉพาะหากพิจารณาสถิติที่ว่าหนึ่งในสี่ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีตเคยมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งครบสมัย
คาปรี คาฟาโร ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะแห่ง American University ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เมื่อเกิดการแพร่ของโควิด-19 ที่ทำเนียบขาว และประธานาธิบดีติดเชื้อไวรัสดังกล่าว “แสงสป็อตไลต์” ก็ฉายมายังรองประธานาธิบดีทันที
อีกเหตุผลหนึ่งที่การโต้อภิปรายระหว่างคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็คือความปั่นป่วนในดีเบตเมื่อวันอังคารที่แล้วระหว่างทรัมป์และไบเดน ที่พิธีกรไม่สามารถคุมเกมให้การอภิปรายดำเนินไปตามกติกา
SEE ALSO: ส่อเค้า "เปลี่ยนกฎโต้อภิปราย" หลังดีเบตทรัมป์-ไบเดนรอบแรก คุมเกมลำบากวิลเลียม โฮเวลล์ ศาตราจารย์ด้านการเมืองอเมริกันที่มหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวว่า การดีเบตของคู่ชิงรองประธานาธิบดียิ่งดูมีความสำคัญมากขึ้น หากคำนึงว่า ทีมงานของทรัมป์และเพนซ์ต้องการหาทางเปลี่ยนจังหวะขับเคลื่อนแนวทางหาเสียง เนื่องจากเป็นรองฝ่ายตรงข้ามในผลสำรวจความนิยมของหลายสำนัก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า รองประธานาธิบดีเพนซ์อาจจะโยงส.ว.แฮร์ริส กับการประท้วงที่เกิดความรุนเเรงในหลายเมืองใหญ่ จากความไม่พอใจความอยุติธรรมด้านเชื้อชาติสีผิว
ส่วน ส.ว.แฮร์ริส ที่เคยแสดงฝีมือถามคำถามตรงไปตรงมาแบบทนายในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการตุลาการของวุฒิสภาครั้งนี้ ที่เวทีดีเบต น่าจะต้องควบคุมไม่ให้ตัวเธอพูดรุนแรงเกินไปหากเป็นเรื่องสุขภาพของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่อยู่ระหว่างพักฟื้นจากโควิด-19
ท็อดด์ เบลท์ แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวว่าแม้วุฒิสมาชิกแอร์ริส จะชอบเป็นฝ่ายบู๊ในการอภิปราย อย่างที่เห็นในการทำงานในสภา แต่ครั้งนี้ คณะหาเสียงของเธอและนายไบเดน ไม่ต้องการให้ความได้เปรียบในโพลล์ขณะนี้ กระทบกระเทือนจากดีเบต
เขากล่าวว่าส่งที่เธอต้องทำคือไม่ก่อประเด็นที่สร้างความปั่นป่วนกับความเป็นต่อขณะนี้ก็พอ
สำหรับหัวข้อที่อาจถูกพูดถึงมาก คาปรี คาฟาโร จาก American University กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องการเเต่งตั้งผู้พิกษาศาลสูงแทนตำแหน่งที่ว่างลงหลังจากที่ตุลาการรูธ กินส์เบิร์กเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กันยายน โดยขณะนี้กระบวนการกลั่นกรองผู้ได้รับการเสนอชื่อ อยู่ที่วุฒิสภา และ ส.ว.แฮร์ริสก็คือหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมด้วย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่มีต่อพรรครีพับลิกันที่รีบดำเนินการก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี สำหรับตำแหน่งที่มีวาระการทำหน้าที่ได้ตลอดชีวิต