Your browser doesn’t support HTML5
ปธน.สหรัฐฯ บารัค โอบาม่า และ ปธน.จีน สี จิ้นผิง รับปากว่าจะร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน ระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 21 ที่กรุงปารีส หรือ Conference of Parties 21 (COP21) ซึ่งเริ่มขึ้นในวันจันทร์
ผู้นำสองประเทศเห็นพ้องกันให้เกิดความร่วมมือเพื่อลดปริมาณมลพิษ และสนับสนุนเศรษฐกิจที่ลดการพึ่งพาแก๊สคาร์บอน
ปัจจุบันสหรัฐฯและจีนคือประเทศที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด โดย ปธน.โอบาม่า สัญญาว่าจะลดปริมาณมลพิษลงให้ได้ 28% ภายในปี ค.ศ 2025
หลังการหารือกับผู้นำจีน ปธน.โอบาม่าขึ้นกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุม COP 21 ว่าตนได้เห็นถึงผลกระทบใหญ่หลวงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ระหว่างการเดินทางเยือนรัฐอลาสก้าเมื่อต้นปีนี้
เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนื้ คือการจัดทำข้อตกลงควบคุมระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลการประชุมเรื่องนี้ในครั้งก่อนๆ รวมทั้งที่กรุงโคเปนเฮเก้นเมื่อปี 2009 จะพบว่ายังมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน และคาดว่าความแตกต่างและอุปสรรคที่ว่านั้น จะยังมีอยู่ในการประชุมที่กรุงปารีสครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงข้อผูกมัดทางกฏหมายของข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น การให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ยากจน และกระบวนการติดตามตรวจสอบว่าประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการจำกัดปริมาณมลพิษทางอากาศหรือไม่ อย่างไร
ก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตุนิยมของสหประชาชาติเพิ่งมีรายงานเปิดเผยว่า ปี ค.ศ 2015 คือปีที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา และสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมราว 1 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของระดับที่สหประชาชาติกำหนดไว้
(ผู้สื่อข่าว Lisa Bryant รายงานจากกรุงปารีส / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)