วันจันทร์นี้จะเป็นวันเริ่มการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดทำข้อตกลงที่จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
การประชุมครั้งนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หลังจากเพิ่งเกิดการก่อการร้ายในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พ.ย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน
ในขณะที่กรุงปารีสสั่งห้ามการชุมนุมอย่างเด็ดขาด จึงมีประชาชนจำนวนมากนำรองเท้าไปวางไว้ที่จตุรัส Place de la Republique เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการเดินขบวน นับจำนวนรองเท้าได้มากกว่า 20,000 คู่ คิดเป็นน้ำหนักกว่า 4 ตัน รวมทั้งรองเท้าของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ บัน คี-มูน และรองเท้าของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ส่งมาจากนครวาติกันด้วย
นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ลอนดอน เซาเปาโล นิวยอร์ค เบอร์ลิน และเพิร์ท
คาดว่าจะมีผู้นำโลกราว 150 คนเข้าร่วมการประชุมที่กรุงปารีส รวมถึง ปธน.บารัค โอบาม่า ปธน.สี จิ้นผิง ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน และนายกฯนเรนธรา โมดี เป้าหมายหลักของการประชุมครั้งนื้คือการจัดทำข้อตกลงควบคุมระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมการปล่อยมลพิษที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก
ก่อนหน้านี้ สำนักงานอุตุนิยมของสหประชาชาติเพิ่งมีรายงานเปิดเผยว่า ปี ค.ศ 2015 คือปีที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา และสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมราว 1 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นครึ่งหนึ่งของระดับที่สหประชาชาติกำหนดไว้
ปธน.บารัค โอบาม่า เขียนใน Facebook ของตนในวันอาทิตย์ ก่อนเดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงปารีสว่า ตนเชื่อว่าการประชุมที่ปารีสครั้งนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดี และที่ผ่านมารัฐบาลและภาคเอกชนในสหรัฐฯ ได้สร้างความก้าวหน้าไปมากในการลดปริมาณแก๊สที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลการประชุมเรื่องนี้ในครั้งก่อนๆ รวมทั้งที่กรุงโคเปนเฮเก้นเมื่อปี 2009 จะพบว่ายังมีความแตกต่างอยู่มากระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจน และคาดว่าความแตกต่างและอุปสรรคที่ว่านั้นจะยังมีอยู่ในการประชุมที่กรุงปารีสครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงข้อผูกมัดทางกฏหมายของข้อตกลงที่จะเกิดขึ้น การให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ยากจน และกระบวนการติดตามตรวจสอบว่าประเทศต่างๆ จะปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องการจำกัดปริมาณมลพิษทางอากาศหรือไม่ อย่างไร
ขณะเดียวกัน ปธน.ฝรั่งเศส ฟรังก์ซัวร์ โอล็องก์ ออกมายืนยันถึงความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยในกรุงปารีส โดยได้เพิ่มกำลังตำรวจและทหารทั่วกรุงปารีสเกือบ 10,000 นาย ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุมที่จะไปสิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค
(ผู้สื่อข่าว Ken Bredemeier รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)