นักการศึกษาแนะพ่อแม่เรื่องช่วยลูกสมัครเรียนมหาวิทยาลัย “ควรเปิดใจแต่อย่าเรียกร้อง”

FILE - Medical student Matthew Stark, center, celebrates with his parents and Pascal J. Goldschmidt, left, dean for the University of Miami Miller School of Medicine, after learning which residency training program he was matched with, March 18, 2016.

Your browser doesn’t support HTML5

นักการศึกษาแนะนำพ่อแม่เรื่องการช่วยลูกสมัครเรียนมหาวิทยาลัยว่า “ควรเปิดใจแต่อย่าเรียกร้อง”

นักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสเเองเจลิส (UCLA) กล่าวว่า พ่อแม่คือผู้ที่นักเรียนมัธยมปลายจำนวนมากขอคำปรึกษาเรื่องการสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้ปกครองควรทราบถึงการวางตัวเพื่อสนับสนุนลูกๆ อย่างเหมาะสม ในช่วงสำคัญของชีวิตวัยรุ่นเหล่านี้​

ฟิโอนา รีส์ (Ffiona Rees) รองผู้อำนวยการอาวุโสที่มีหน้าที่คัดนักเรียนต่างชาติเข้าเรียนที่ UCLA กล่าวว่า ผู้ปกครองควรคำนึงถึงความจริงที่ว่า กระบวนการสมัครเรียนและรูปแบบการศึกษาเปลี่ยนไปไม่น้อยจากสมัยของตน

การให้ความสนใจถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็น ‘การบ้าน’ ที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ด้วย

เมื่อทำความเข้าใจถึงระบบใหม่แล้ว พ่อแม่ควรให้อิสระลูกๆ ในการคิดและเลือกในสิ่งที่พวกเขาสนใจ ในระดับที่สมกับอายุ

ตามปกตินักเรียนมัธยมปลายวัยประมาณ 17 ถึง 18 ปี สามารถใช้เหตุผลตามวุฒิภาวะในระดับที่ สามารถกรอกเอกสารการสมัครต่างๆ เองได้

การให้ความไว้ใจพวกเขาในเรื่องนี้ช่วยปลูกฝังให้พวกเขามีความเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นใจในอนาคต

ฟิโอนา รีส์ บอกด้วยว่าการพูดคุยเรื่องการเลือกมหาวิทยาลัยระหว่างผู้ปกครองและลูกๆ ควรเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา

ตัวอย่างเช่น การที่พ่อแม่บอกลูกๆ ว่าจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงเรื่องภาระการเงินที่เกิดขึ้นด้วย เพราะค่าเทอมของมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากแพงกว่าสถาบันของรัฐ โดยเฉพาะรัฐที่นักเรียนอาศัยอยู่ในขณะที่ยื่นใบสมัคร

นอกจากนั้นผู้ปกคอรงควรเปิดใจบอกลูกๆ ถึงความรู้สึกที่แท้จริงหากว่าจะเป็นห่วงพวกเขามาก ถ้าไปเรียนในเมืองที่ไกลกันมาก

ฟิโอนา รีส์ บอกว่า พ่อแม่สามารถแสดงความกังวลได้แต่ไม่ควรเรียกร้องให้ลูกทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ เพราะนี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญของพวกเขาก่อนเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว

ข้อคิดทิ้งท้ายที่ ฟิโอนา รีส์ จาก UCLA ฝากไว้คือ ไม่ว่าผลการสมัครเป็นอย่างไร ขอให้ผู้ปกครองบอกกับลูกๆ ถึงความภูมิใจ และความรักที่มีต่อพวกเขา

หากการสมัครไม่ประสบความสำเร็จ พ่อแม่จะช่วยให้ลูกๆ สามารถก้าวข้ามผ่านความผิดหวังนี้ไปได้ ด้วยการแสดงความรักและความเข้าใจพวกเขา

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Pete Musto)