นักวิจัยอังกฤษพัฒนาวิธีพิมพ์ 'ลายนิ้วมือพราน' ช่วยอนุรักษ์ตัวนิ่ม 

FILE - Bags of pangolin scales are pictured next to elephant tusks seized from traffickers by Ivorian wildlife agents, Abidjan, Ivory Coast, Jan. 25, 2018.

Your browser doesn’t support HTML5

Pangolin Poachers Fingerprints

ตัวนิ่มเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเกล็ดหนาเรียงซ้อนกันเป็นเเถวๆ คล้ายกับตัวอาร์มาดิลโล (armadillo) เพื่อป้องกันตัวเองจากสัตว์ล่าเหยื่อ เเต่ความต้องการเกล็ดตัวนิ่มทำให้คนลักลอบล่าเเละค้าตัวนิ่มจนคุกคามต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่าชนิดนี้

แต่ในขณะนี้ ทีมนักวิจัยในอังกฤษได้พัฒนาวิธีจัดเก็บลายนิ้วมือของผู้ลักลอบล่าสัตว์ป่า ที่ติดอยู่บนเกล็ดตัวนิ่ม

เเจค รีด เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคการเก็บหลักฐานแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ ในอังกฤษ กล่าวว่า ทีมงานตื่นเต้นและทึ่งมากหลังจากการทดลองครั้งแรกช่วยให้ทีมงานได้ลายนิ้วมือของคนบนเกล็ดตัวนิ่ม

เทคโนโลยีเก็บหลักฐานลายนิ้วมือนี้ใช้ง่ายเพราะมีขั้นตอนแบบ low-tech

ด็อกเตอร์ พอล สมิธ แห่งศูนย์นวัตกรรมด้านการจัดเก็บหลักฐานแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ทสมัธ กล่าวว่า วิธีการจัดเก็บลายนิ้วมือนี้อาจไม่สมบูรณ์แบบเท่ากับการจัดเก็บในห้องทดลองหรือในจุดเกิดเหตุอาชญากรรมที่มีการควบคุม เเต่ก็ใช้งานได้ในการช่วยจัดเก็บหลักฐานอย่างรวดเร็ว เเล้วนำไปวิเคราะห์ต่อในห้องแล็บ


ผู้ร่วมมือในโครงการนี้ รวมทั้งสมาคมสวนสัตว์แห่งกรุงลอนดอน (Zoological Society of London) กับสำนักงานคนเข้าเมืองเเละศุลกากรแห่งสหราชอณาจักร (UK Border Force) ซึ่งเป็นผู้นำเกล็ดตัวนิ่มมาให้ทีมนักวิจัย โดยตัวนิ่มนั้นถือเป็นสัตว์ปกป้องภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora - CITES)

ทีมนักวิจัยคาดกันว่า เทคนิคการจัดเก็บลายนิ้วมือจากตัวนิ่มนี้จะมีผลดีมหาศาลต่อการปราบปรามการลักลอบค้าขายตัวนิ่ม

เเกรนท์ มิลเล่อร์ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเเละศุลกากรอาวุโสของอังกฤษ กล่าวว่า เทคนิคการจัดเก็บลายนิ้วมือนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ระบุได้ว่าเครือข่ายอาชญากรใดเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าเกล็ดตัวนิ่มที่ยึดได้ นำไปสู่การสอบสวนเพื่อติดตามตัวผู้กระทำผิดได้

หลายคนกังวลว่าตัวนิ่มอาจสูญพันธุ์ได้หากไม่สามารถปราบปรามการลักลอบค้าขายตัวนิ่ม คริส เเรนสัม ผู้จัดการโครงการแอฟริกา สมาคมสวนสัตว์แห่งกรุงลอนดอน กล่าวว่า มีหลายพื้นที่ที่ไม่มีตัวนิ่มหลงเหลืออยู่และปัญหานี้ยังเกิดขึ้นต่อไป จึงจำเป็นต้องหาทางปราบปรามการลักลอบค้าตัวนิ่ม ลดความต้องการบริโภคตัวนิ่ม และหยุดยั้งการล่าตัวนิ่มเพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายากนี้อยู่รอดได้ในธรรมชาติ

ด้าน คริสตี้ แฮนเดอร์สัน ผู้ประสานงานการรณรงค์อาวุโสเเห่ง PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) หน่วยงานพิทักษ์สิทธิ์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า จำเป็นต้องทำมากกว่านี้เพื่อปกป้องตัวนิ่มที่ถูกล่าเพื่อนำไปบริโภค เพราะความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของเกล็ดตัวนิ่ม

การลักลอบค้าขายสัตว์ป่าเเละพันธุ์พืชเป็นอาชญากรรมใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ตามหลังการลักลอบค้ามนุษย์ ยาเสพติดเเละอาวุธ โดยประมาณว่ามีมูลค่าระหว่าง 17,000 – 23,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)