กว่าหนึ่งปีหลังจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ผู้ที่สังเกตปรากฏการณ์ทางสังคม ได้เห็นการปักใจเชื่อในข้อมูลเท็จ ข่าวลือเเละทฎษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวัคซีน
ตัวอย่างเช่น การสำรวจโดย Pew Research Center เมื่อเดือนมิถุนายน ชี้ให้เห็นว่า ชาวอเมริกันจำนวนประมาณหนึ่งในสี่เชื่อว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสถูกสร้างขึ้นอย่างจงใจอยู่ในระดับ “มีความเป็นไปได้” หรือ “เป็นเช่นนั้นอย่างเเน่นอน”
นอกจากนี้ยังมีนักรณรงค์ต่อต้านการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อย่างที่เห็นเมื่อเดือนมกราคมที่คลินิกรับฉีดวัคซีนให้เเก่ประชาชนที่สนามกีฬา Dodger Stadium ที่นครลอสเเอนเจลิส ถูกกดดันโดยกลุ่มคนดังกล่าวจนต้องปิดไปหนึ่งวัน
ส่วนในยุโรป เสาโทรศัพท์จำนวนมากถูกเผาทำลาย เนื่องจากมีคนเชื่ออย่างผิดๆที่ว่าสัญญาณ 5 จี สามารถเเพร่โควิด-19 ได้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความเชื่อผิดๆตามทฤษฎีสมคบคิด มีอย่างเเพร่หลาย จนอาจเกิดวิกฤติ “infodemic” ว่าด้วยข้อมูลเท็จเรื่องโควิด-19 ที่เเพร่อย่างรวดเร็ว
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่า ทฤษฎีสมคบคิด ทำให้คนเกิดความเชื่อที่จินตนาการขึ้นมาเองว่า ข้อมูลลับที่ตนมีทำให้พวกเขามีอำนาจเหนือสถานการณ์มากขึ้น
อดีตศัลยเเพทย์ใหญ่สหรัฐฯ ริชาร์ด คาร์โมนาที่มีหน้าที่ให้ข้อมูลด้านสาธารณสุขเเก่ประชาชน กล่าวว่า ผู้คนต้องเรียนรู้จากที่สิ่งเกิดขึ้น จากสถานการณ์เมื่อปีที่เเล้วที่อยู่ๆ การสวมหน้ากากป้องกันกลายเป็นเรื่องการเมืองขึ้นมาได้
การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญที่มหาวิทยาลัยคอร์เเนลที่สหรัฐฯ ชี้ว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งกล่าวลดความน่ากลัวของโคโรนาไวรัส เป็นปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนเชื่อในข้อมูลเท็จเรื่องโควิด-19 ตามรายงานของสำนักข่าว Associated Press
เฮเลน ลี บิวย์เกส ผู้ก่อตั้งเเละประธานกลุ่ม Reboot Foundation ที่กรุงปารีส ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน กล่าวเสริมว่าทฤษฎีสมคบคิดมักเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุการณ์ปั่นป่วนรุนเเรงในสังคม เช่นเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน 2001 และการลอบสังหารจอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สำหรับวิธีรับมือ หรือป้องกัน “infodemic” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ามาตรการที่เเข็งขันของบริษัทโซเชียลมีเดียในการกรองข้อมูลมีส่วนสำคัญ และบริษัทเหล่านี้สามารถขยายมาตรการที่เข้มข้นไปสู่หัวข้อข่าวอื่นๆที่มีการเเพร่ข้อมูลเท็จเช่น เรื่องภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ ได้ด้วย
การเรียนการสอนให้คนรู้เท่าทันข้อมูลเท็จออนไลน์ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ อย่างที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ซึ่งสอนเรื่องนี้ผ่านเกม Go Viral! ที่ผู้เล่นต้องสร้างข้อมูลเท็จเเข่งกัน
การศึกษาพบว่า การเรียนรู้ผ่านเกมลักษณะนี้ช่วยให้คนมีภูมิคุ้มกันข้อมูลเท็จได้
อย่างไรก็ตาม เฮเลน ลี บิวย์เกสจากหน่วยงาน Reboot Foundation บอกว่าการเเก้ไขที่ดีที่สุดคือการศึกษา ซึ่งนั่นหมายความว่างานภายภาคหน้ายังคงมีรออยู่มากมาย