สรุป ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อย BA.2 คืออะไร?

People wearing face masks pass by a poster of precautions against coronavirus at a subway station in Seoul, South Korea, Jan. 25, 2022.

Your browser doesn’t support HTML5

Omicron Subset BA2 Explainer


ทั่วโลกกำลังจับตาดูการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อยที่ถูกเรียกว่า BA.2 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนในปีที่ผ่านมา ราว 40 ประเทศซึ่งรวมทั้งสหรัฐฯและประเทศไทย ได้ส่งข้อมูลผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ข้างต้นถึง 15,000 รายในระบบ GISAID ที่เป็นฐานข้อมูลร่วมเกี่ยวกับโควิด โดยผู้เชี่ยวชาญพบการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 จากสายพันธุ์หลักอย่างเห็นได้ชัด

นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง แห่งโรงพยาบาล Houston Methodist ในรัฐเท็กซัสกล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า “ตั้งแต่เกิดการระบาด เรายังไม่เห็น (สายพันธุ์ย่อย) มาก” ในสหรัฐฯ กลับกันกับฝั่งเอเชียและยุโรปที่มีการระบาดมาก

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขของเดนมาร์กพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยในประเทศแล้วถึง 45% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั้งหมดเมื่อกลางเดือนมกราคม ตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้านั้น

แต่การวิเคราะเบื้องต้นในเดนมาร์กระบุว่า ทางการไม่พบความแตกต่างในจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการติดเชื้อของสายพันธุ์ย่อยเมื่อเทียบกับ ’โอมิครอน’ สายพันธุ์หลัก ส่วนในประเทศไทย หนังสือพิมพ์มติชน รายงานวันที่ 26 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นว่าพบผู้ป่วยจากสายพันธุ์ย่อยแล้ว 14 ราย

SEE ALSO: ไฟเซอร์ เริ่มทดลองวัคซีนสำหรับไวรัสโอมิครอนโดยเฉพาะ

ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของ BA.2

นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง กล่าวต่อว่า “เรามีข้อมูลบางส่วนที่ชี้ว่า (สายพันธุ์ย่อย) อาจแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วเท่าหรือรวดเร็วกว่าสายพันธุ์หลัก เนื่องจาก (สายพันธุ์ย่อย) สามารถระบาดแข่งกับสายพันธุ์หลักได้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แน่ใจว่าเป็นไปได้เพราะอะไร”

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ เจอเรมี่ ลูแบน นักระบาดวิทยาแห่ง University of Massachusetts Medical School ชี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างไร โดยเฉพาะในบริเวณที่ผู้คนจำนวนมากเผชิญกับการระบาดของ ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักแล้ว

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงเร่งศึกษาเพิ่มเติมถึงความสามารถในการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดในการป้องกันเชื้อดังกล่าว และภูมิคุ้มกันของผู้ที่เคยติดสายพันธุ์หลักมาก่อนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยได้หรือไม่

WHO แสดงความกังวลมากแค่ไหน?

ทางด้านองค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุเพียงว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) ซึ่งเป็นระดับการส่งสัญญาณขึ้นสูงสุดสำหรับเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ทั้งนี้ หากสถานการณ์การระบาดทั่วโลกจากสายพันธุ์ย่อยรุนแรงขึ้น BA.2 อาจจะถูกยกระดับขึ้นมาและได้รับตัวอักษรกรีกเหมือนสายพันธุ์หลักชนิดก่อนๆ

ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 สำนักข่าวเอพีอธิบายว่า ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์หลักมีพันธุกรรม S gene target failure โดยเฉพาะจึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแยกแยะออกจากสายพันธุ์ ‘เดลต้า’ ได้ง่าย ทั้งนี้ นายแพทย์ เวสลีย์ ลอง ชี้ว่า พันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 ไม่มีคุณลักษณะเช่นนั้น จึงทำให้เมื่อตรวจเชื้อแล้ว ผลปรากฏว่ามีพันธุกรรมคล้าย ‘เดลต้า’

A patient gets a throat swab to test for COVID-19 at a facility in Soweto, South Africa, Dec. 2, 2021.

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย

สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ย่อย แพทย์ให้คำแนะนำผ่านสำนักข่าวเอพีว่า ผู้คนควรใช้มาตรการเฝ้าระวังอย่างที่เคยทำมา เช่น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด การสวมหน้ากากอนามัย การหลีกเหลี่ยงสถานที่แอดอัด และอยู่บ้านหากรู้สึกว่าไม่สบาย

นายแพทย์ ลอง อธิบายว่า “วัคซีนยังถือเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ จำนวนคนที่ต้องนอนโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตได้ดี และถึงแม้บางคนจะเคยติดโควิดมาก่อนและสามารถสร้างภูมิต้านทานตามธรรมชาติได้ แต่การป้องกันจากวัคซีนยังจัดว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าและมีระยะเวลาป้องกันที่ยาวกว่า”

สายพันธุ์ย่อยที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้กับผู้คนว่าการระบาดของโคโรนาไวรัสยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งนายแพทย์ ลองกล่าวทิ้งท้ายว่า “เราทุกคนหวังว่าการระบาดจะจบสิ้น …..แต่ เราจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการเกิดสายพันธุ์ใหม่ต่อไป จนกว่าคนทั่วโลกได้รับวัคซีน”

  • ที่มา: เอพี