ทีมนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ ‘รอยเท้ามนุษย์’ อายุเก่าแก่เกือบ 23,000 ปีในรัฐนิวเม็กซิโก ที่บ่งชี้ว่ามนุษย์อาจเดินทางมาถึงทวีปอเมริกามายาวนานกว่าที่คาดไว้ ตามรายงานของเอพี
สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (23 กันยายน) ถึงการวิเคราะห์ฟอสซิลรอยเท้ามนุษย์ของทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณก้นทะเลสาบที่แห้งเหือด ในอุทยานแห่งชาติไวท์แซนด์ส เมื่อปี 2009 และตรวจสอบเมล็ดพืชพันธุ์ที่ติดอยู่ในรอยเท้าโบราณดังกล่าว ซึ่งพบว่าเป็นรอยเท้าที่เกิดขึ้นประมาณ 22,800 ปี ถึง 21,130 ปีก่อน
จากการวิเคราะห์ขนาดฟอสซิลรอยเท้าที่พบ นักวิจัยเชื่อว่า เป็นรอยเท้าของเด็กและวัยรุ่น ที่อาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งตอนปลาย
ทีมวิจัย ระบุว่า การศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในวันพฤหัสบดี ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจนขึ้นถึงช่วงเวลาและสถานที่ที่มนุษย์กลุ่มแรกมาถึงทวีปอเมริกาเหนือ แม้ว่าในความเป็นจริงพวกเขาอาจเดินทางมาถึงเร็วกว่านั้นก็ตาม เพราะฟอสซิลรอยเท้าคือหลักฐานที่ชัดเจนและไม่อาจโต้แย้งได้เมื่อเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรม ชิ้นส่วนกระดูกดัดแปลง หรือฟอสซิลอื่นๆ โดยทั่วไป
เดวิด บัสโทส ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรของอุทยานแห่งไวท์แซนด์ส ของนิวเม็กซิโก ค้นพบรอยเท้าโบราณกลุ่มแรกนี้เมื่อปี 2009 ก่อนจะขยายผลการค้นพบเพิ่มขึ้นในอีกหลายปีต่อมา เขาเปิดเผยว่า ทีมอุทยานทราบเพียงว่าเป็นรอยเท้าเก่าแก่ ยังไม่มีหนทางที่จะระบุอายุที่แท้จริงของรอยเท้าเหล่านี้ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงเมล็ดพืชที่ติดอยู่ในรอยเท้าดังกล่าวได้ และด้วยสภาพของฟอสซิลรอยเท้าที่เกิดขึ้นบนโคลนและดินเหนียว ทำให้ยากต่อการศึกษาและเก็บรักษา ทีมงานจึงต้องใช้การบันทึกภาพและสร้างโมเดล 3 มิติขึ้นมาเพิ่มเติม
การค้นพบครั้งนี้ ได้ช่วยไขปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ค้างคาใจมานาน นั่นคือ มนุษย์กลุ่มแรกเดินทางมาถึงทวีปอเมริกาเมื่อไหร่กันแน่
โดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า การอพยพในยุคโบราณมายังทวีปอเมริกาเกิดขึ้นบนผืนดินที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียและรัฐอะแลสกา ซึ่งอ้างอิงจากหลักฐานต่างๆ รวมทั้ง เครื่องมือที่ทำจากหิน ฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูก และการวิเคราะห์ในระดับยีน และประเมินว่ามนุษย์กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงทวีปอเมริกาทั้งเหนือและใต้นั้น จะอยู่ที่ราว 13,000-26,000 ปีก่อน
(ที่มา: เอพี)