ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลวิจัยชี้ 'สตรีมีครรภ์' ส่งต่อภูมิคุ้มกันให้ลูกได้หลังฉีดวัคซีนโควิด


FILE - A pregnant woman receives a vaccine for the coronavirus disease (COVID-19) at Skippack Pharmacy in Schwenksville, Pennsylvania, Feb. 11, 2021.
FILE - A pregnant woman receives a vaccine for the coronavirus disease (COVID-19) at Skippack Pharmacy in Schwenksville, Pennsylvania, Feb. 11, 2021.

รายงานการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Obstetrics and Gynecology: Maternal-Fetal Medicine สัปดาห์นี้ เปิดเผยว่า สตรีมีครรภ์ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วสามารถส่งผ่านภูมิคุ้มกันโควิดไปให้ลูกน้อยในครรภ์ได้

นักวิจัยที่ Grossman School of Medicine มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันของเด็กทารกเกิดใหม่ 36 คนที่มารดาได้รับวัคซีนโควิดของบริษัทไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาก่อนคลอดบุตร และพบว่าเด็กทารกทั้ง 36 คนนั้นล้วนมีภูมิคุ้มกันโควิดเมื่อแรกเกิดด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้มิได้บ่งชี้ว่าเด็กทารกเหล่านั้นสามารถต้านทานโควิดได้ดีหรือไม่ หรือภูมิคุ้มกันนั้นจะคงอยู่นานแค่ไหน

นักวิทยาศาสตร์พบว่า สตรีมีครรภ์สามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้หลังจากได้รับวัคซีนหรือหลังจากติดเชื้อโคโรนาไวรัส และส่งผ่านให้กับลูกในครรภ์ผ่านสายสะดือหรือการให้นมบุตร

เมื่อเดือนที่แล้ว ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี กระตุ้นให้สตรีมีครรภ์หรือสตรีที่เพิ่งคลอดบุตรเข้ารับวัคซีนโควิด โดยระบุว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน รายงานการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Nature Communications พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 บางคนได้สร้าง "ออโตแอนติบอดี" หรือ "ภูมิคุ้มกันแบบทำลายตัวเอง" ซึ่งอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลนั้นโจมตีเนื้อเยื่อที่แข็งแรงและทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้น

โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบ"ออโตแอนติบอดี" ในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยโควิดอย่างน้อย 50% ของผู้ป่วยโควิดเกือบ 150 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เทียบกับ 15% ที่พบในเลือดของอาสาสมัครที่ร่างกายแข็งแรงดี

นักวิจัยเชื่อว่าออโตแอนติบิดีนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาการป่วยโควิด-19 ของผู้ติดเชื้อบางคนมีอาการรุนแรงกว่าปกติด้วย

(ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวเอพี และรอยเตอร์)

XS
SM
MD
LG