Your browser doesn’t support HTML5
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานประจำปีต่อรัฐสภาไม่นานนี้ว่า จีนวางแผนที่จะติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในทะเลจีนใต้ โดยทางการปักกิ่งได้ตั้งเป้าที่จะให้โครงการดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้ในอีกสองปีจากนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า โครงการของจีนที่ว่านี้น่าจะสร้างความกังวลด้านการเมืองระหว่างประเทศ และอาจมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การสร้างแท่นลอยน้ำที่ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานปรมาณู เป็นสัญญาณของการยกระดับการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้โดยรัฐบาลปักกิ่ง
จีนมีประเทศคู่กรณีในพื้นที่ทับซ้อนนี้หลายประเทศ ซึ่งประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม และที่ผ่านมา จีนได้ส่งกองกำลังทหารไปสู่พื้นที่หลายแห่งในทะเลจีนใต้
นักวิเคราะห์ คอลลิน โกะห์ (Collin Koh) จากมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ที่สิงคโปร์ เห็นว่า ความพยายามล่าสุดนี้จะเอื้ออำนวยต่อการอ้างสิทธิ์ควบคุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้
สื่อจีนรายงานเมื่อสองปีก่อน ว่าทางการปักกิ่งอาจจะติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำมากถึง 20 เครื่อง เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าฐานลอยน้ำเหล่านั้นจะอยู่บริเวณหมู่เกาะพาราเซล (Paracel) ซึ่งมีเวียดนามเป็นคู่กรณีที่สำคัญ หรือหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ (Spratly) ที่อยู่ทางใต้ ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนโดยรัฐบาลหกประเทศ
ขณะนี้มีชาวจีนกว่า 1,000 คนอาศัยอยู่บนเกาะ Woody ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะพาราเซล และทางการจีนมีเป้าหมายพัฒนาบริเวณดังกล่าวเพื่อการท่องเที่ยว
ส่วนที่หมู่เกาะสแปร็ตลีย์ จีนก่อสร้างสถานที่สำหรับกิจกรรมของกองทัพอากาศ สถานที่ดังกล่าวสามารถรับเครื่องบินทิ้งระเบิดและเป็นศูนย์เติมน้ำมันของเครื่องบินได้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในมุมมองของสหรัฐฯ การที่จีนจะมีเทคโนโลยีพลังงานปรมาณู น่าจะเป็นเหตุผลให้อเมริกาต้องการส่งสัญญาณเตือนจีนเพิ่มเติม ด้วยการส่งเรือเข้าน่านน้ำดังกล่าว
สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อาจารย์ โอ ไอ ซัน (Oh Ei Sun) จากมหาวิทยาลัยนานยางที่สิงคโปร์ กล่าวว่า ในทางเทคนิค ฐานลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานนิวเคลียร์สามารถทำได้ เพราะไม่น่าจะแตกต่างจากการทำงานของเรือบรรทุกเครื่องบินที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานปรมาณู
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ คอลลิน โกะห์ ระบุว่ามีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูง หากพิจารณาว่าเทคโนโลยีของจีนอาจไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ถือว่าดีที่สุดของโลก
ท้ายสุด อาจารย์ เจย์ บาตองบาคัล (Jay Batongbacal) จาก University of Philippines กล่าวว่า หากจีนสามารถติดตั้งแท่นลอยน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานปรมาณูได้สำเร็จ จะเป็นการยากที่จะหยุดยั้งโครงการดังกล่าวในภายหลัง
เขาบอกว่า ความหวังที่ดีที่สุดของประเทศที่ไม่เห็นด้วยขณะนี้ คือการกดดันให้จีนไม่เดินหน้าโครงการนี้ได้แต่เนิ่นๆ
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Ralph Jennings)