เวลานี้ โฆษณารับสมัครงานกำลังผุดขึ้นทั่วไปทั่วอเมริกา ในขณะที่บรรดานายจ้างกำลังประสบปัญหาขาดแคลนคนทำงานอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 การเกษียณก่อนเวลา และข้อจำกัดด้านกฎหมายคนเข้าเมือง
ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า เมื่อเดือนมิถุนายน มีตำแหน่งงานมากกว่า 11 ล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถหาคนทำงานได้ และมีคนหางานไม่ถึง 6 ล้านคนในช่วงเดียวกัน
ด้านหอการค้าสหรัฐฯ แถลงว่า "เรามีตำแหน่งงานมากมาย แต่มีคนทำงานไม่พอ" พร้อมชี้ว่า แรงงานจำนวนมากที่หยุดทำงานไปในช่วงที่โควิดเริ่มระบาดใหม่ ๆ ในสหรัฐฯ เมื่อต้นปีค.ศ. 2020 ต่างไม่กลับมาทำงานอีก โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่ต่างตัดสินใจเกษียณก่อนเวลา
รายงานของหอการค้าสหรัฐฯ ชี้ว่า "หากมีการจ้างงานเต็มที่ในตอนนี้ เราจะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 3.4 ล้านคน"
SEE ALSO: เกิดอะไรขึ้นกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ หลัง ‘ภาวะตบเท้าลาออกครั้งใหญ่’ผลกระทบของคนยุคเบบี้บูม
นิค บังเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดแรงงาน เชื่อว่า "ส่วนหนึ่งของปัญหานี้คือการที่อายุเฉลี่ยของประชากรอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น" ซึ่งในระยะสั้น ยากที่จะเห็นอัตราการทำงานของประชากรอเมริกันวัยผู้ใหญ่กลับมาอยู่ที่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาด
ขณะที่ ไดแอน สวองค์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันการเงิน KPMG กล่าวกับเอเอฟพีว่า "ประชาชนที่เกิดในยุคเบบี้บูมส่วนใหญ่เริ่มออกจากตลาดแรงงานแล้ว และในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมายังเกิดสิ่งที่เรียกว่า 'การเร่งรัดเกษียณ' ด้วย"
ทั้งนี้ คนทำงานจำนวนมากตัดสินใจเกษียณก่อนเวลาเนื่องจากกังวลปัญหาสุขภาพ รวมทั้งอาจมีเงินเก็บมากพอแล้วในรูปของหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ไดแอน สวองค์ แห่ง KPMG กล่าวว่า โควิด-19 มิได้ส่งผลระยะยาวต่อผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงานในอเมริกาอีกด้วย และกล่าวด้วยว่า "อเมริกายังไม่มีกฎหมายคนเข้าเมืองที่เหมาะสมสำหรับการนำคนต่างชาติเข้ามาทดแทนประชากรยุคเบบี้บูมที่เกษียณไป"
นโยบายของรัฐบาลกลาง
กฎหมายควบคุมคนเข้าเมืองอย่างเข้มงวดที่นำมาใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมทั้งผลกระทบของโควิด-19 ได้ทำให้จำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยและทำงานในสหรัฐฯ ลดลงอย่างมาก และแม้ตัวเลขคนเข้าเมืองจะเริ่มกลับมากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ยังคงต่ำกว่าระดับเมื่อหลายปีก่อน
หอการค้าสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำถึงผลกระทบจากมาตรการให้เงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งทำให้หลายครอบครัวมีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น และยังคงไม่ออกมาหางานทำอีกแม้โครงการให้เงินช่วยเหลือจะยุติลงแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ มีสตรีจำนวนมากที่ตัดสินใจออกจากงานในช่วงสองปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เวลาดูแลบุตรหลานที่ต้องเรียนหนังสือจากบ้าน และยังคงไม่กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในตอนนี้ ขณะที่ธุรกิจรับดูแลเด็กเล็กเองก็ประสบปัญหาขาดแคลนคนทำงานเช่นกัน
เวลานี้ บรรดานายจ้างในสหรัฐฯ ต่างพยายามหาวิธีจูงใจคนทำงานด้วยการเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ ทำให้มีประชาชนหลายล้านคนตัดสินใจเปลี่ยนงานในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Great Resignation" หรือ "การลาออกครั้งใหญ่" ซึ่งมาพร้อมกับค่าจ้างที่สูงขึ้น
ข้อมูลด้านแรงงานของสหรัฐฯ ชี้ว่า อัตราค่าแรงรายชั่วโมงของภาคเอกชนในอเมริกาเพิ่มขึ้น 5.2% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.27 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3.5% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นสถิติใหม่ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในตลาดแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและปัญหาขาดแคลนแรงงานในอเมริกาได้เช่นเดียวกัน
- ที่มา: เอเอฟพี