ผู้นำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ พบกันและจับมืออย่างอบอุ่นในช่วงเช้าวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ที่หมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเส้นแบ่งพรมแดนที่แยกสองประเทศออกจากกันมานานหลายสิบปี ก่อนที่จะมีการประชุมครั้งประวัติศาสตร์
ผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ อิน ร่วมกันก้าวผ่านเส้นพรมแดนของกันและกัน พร้อมกล่าวคำทักทายกัน โดยประธานาธิบดีมูน กล่าวว่า "ยินดีที่ได้พบคุณ"
หลังการพบปะกันในช่วงเช้า ผู้นำคิมเดินทางกลับไปยังทางเหนือของหมู่บ้านปันมุนจอมเพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ ก่อนที่จะกลับมายังทางใต้ของหมู่บ้านดังกล่าวอีกครั้งในตอนบ่ายเพื่อร่วมหารือสุดยอดกับผู้นำเกาหลีใต้
WATCH: Highlights from the opening ceremony
Your browser doesn’t support HTML5
ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สมาชิกระดับผู้นำของราชวงศ์คิม ได้ก้าวเข้าสู่เขตแดนของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีเมื่อปี ค.ศ. 1953 และนับเป็นการประชุมระดับผู้นำของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 3 โดยการประชุมสองครั้งก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2000 และ 2007 ล้วนมีขึ้นในเกาหลีเหนือ
การประชุมสุดยอดระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่เกิดขึ้นวันศุกร์นี้ จะช่วยปูทางไปสู่การเจรจาระหว่าง นายคิม จอง อึน ผู้นำรัฐบาลเปียงยางและ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
ทางทำเนียบขาวมีแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี หลังจากการพบกันของผู้นำทั้งสอง
"สหรัฐฯ หวังว่าการเจรจาครั้งนี้จะสร้างความคืบหน้าไปสู่อนาคตแห่งความรุ่งเรืองและสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี สหรัฐฯ ยินดีต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือใกล้ชิดที่มีต่อเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และมุ่งมองไปถึงการหารือและตระเตรียมแผนการประชุมระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำคิม จอง อึน ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า"
คาดว่าการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และผู้นำคิม จอง อึน จะมีขึ้นในเดือน พ.ค. หรือ มิ.ย.นี้
ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายเห็นความหวังจากความคืบหน้าล่าสุดนี้ ต่อประเด็นความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี และสันติภาพในโลก
ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดของสองเกาหลีสองครั้ง คือเมื่อปี ค.ศ. 2000 และ 2007 และนำมาซึ่งความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการระงับโครงการนิวเคลียร์ของรัฐบาลเปียงยางเป็นการชั่วคราว
แต่พัฒนาการเหล่านี้สะดุดลง เมื่อคิม จอง อึน ผู้นำคนปัจจุบัน รื้อฟื้นโครงการทดลองขีปนาวุธและเทคโนโลยีนิวเคลียร์
คิม จอง อึน ถูกตอบโต้ด้วยมาตรการลงโทษจากนานาชาติ ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ และแรงกดดันทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาตกลงร่วมเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
นายมูน แจ อิน เป็นผู้นำหัวก้าวหน้าของเหลีใต้ เขาสนับสนุนมาตรการลงโทษที่แข็งขันต่อเกาหลีเหนือ ทั้งการลงโทษทางเศรษฐกิจ และการใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของสหรัฐฯ และในเวลาเดียวกัน นายมูน พยายามปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลเปียงยาง จนนำไปสู่การร่วมกีฬาโอลิมปิกของเกาหลีเหนือ
ที่การประชุมสุดยอดสองเกาหลีในวันศุกร์ คาดว่านายมูนจะผลักดันให้เกิดการรื้อฟื้นให้ครอบครัวชาวเกาหลีที่ถูกแยกกันอยู่ให้ได้มาเจอกัน และเขาอาจสานต่อการเจรจาเพื่อให้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ที่ค้างคามาตั้งแต่สงครามเกาหลี เมื่อ 60 กว่าปีก่อน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง / Lee Yoon-jee in Seoul contributed to this report)