เกาหลีเหนือเดินหน้าความพยายามส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรโลกอีกครั้งในวันพฤหัสบดี แต่ก็ต้องประสบความล้มเหลวซ้ำ หลังเครื่องยนต์จรวดเกิดขัดข้องระหว่างการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมุ่งมั่นประกาศที่จะทำให้แผนงานนี้สำเร็จให้ได้ในเดือนตุลาคม ตามรายงานของสื่อทางการกรุงเปียงยาง
สื่อ KCNA รายงานว่า “การบินขึ้นในขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ของจรวดเป็นไปตามปกติ แต่การส่ง(ดาวเทียม) ล้มเหลวเนื่องจากความผิดพลาดที่ระบบจุดระเบิดฉุกเฉินในการบินขั้นที่ 3”
เกาหลีเหนือปล่อยจรวด Chollima-1 ที่เพิ่งเปิดตัวออกมาในการส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม แต่ภารกิจดังกล่าวประสบความล้มเหลว หลังจรวดตกลงในทะเลก่อนจะทะยานขึ้นสู่อวกาศ
กรุงเปียงยางพยายามหาทางส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหารของตนมาสักระยะหนึ่งแล้ว และยังเปิดเผยด้วยว่า ตนมีแผนส่งทัพดาวเทียมขึ้นไปทำการจับตาดูการเคลื่อนไหวของทหารเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ด้วย
ในความพยายามครั้งล่าสุดนี้ เกาหลีเหนือทำการส่งจรวดออกจากฐานปล่อยดาวเทียมโซแฮ ก่อนรุ่งสางของวันพุธ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นส่งสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินแก่ประชาชนในจังหวัดโอกินาวาตั้งแต่เวลาตี 4 ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อให้หลบภัยอยู่ภายในอาคารบ้านเรือน
หลังจรวดของเกาหลีเหนือถูกปล่อยขึ้นฟ้าได้ราว 20 นาที รัฐบาลญี่ปุ่นออกประกาศรอบใหม่เพื่อแจ้งประชาชนว่า ขีปนาวุธของเปียงยางบินผ่านประเทศและข้ามไปในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ก่อนจะยกเลิกสัญญาณเตือนภัย
ฮิโรคาซุ มัตสุโนะ หัวหน้าเลขานุการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวระหว่างการแถลงข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า การยิงขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือนั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดเผยด้วยว่า ชิ้นส่วนของจรวดนั้นได้ตกลงในทะเลเหลือ ทะเลจีนตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย
ขณะเดียวกัน กองทัพเกาหลีใต้ได้ประณามการปล่อยดาวเทียมครั้งล่าสุดของประเทศเพื่อนบ้านว่า เป็นการยั่วยุและการละเมิดมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่วนเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ยืนยันว่า กองทัพสหรัฐฯ รับรู้เกี่ยวกับแผนปล่อยดาวเทียมครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือแล้ว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ
ทั้งนี้ หน่วยงาน National Aerospace Development Administration (NADA) ของเกาหลีเหนือ เปิดเผยว่า จะมีการสอบสวนและดำเนินการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องที่ทำให้ภารกิจในครั้งนี้ล้มเหลว แต่ย้ำว่า “นี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่” ในแง่ของความน่าเชื่อถือโดยรวมของระบบจรวด
อันกิต พานดา จาก Carnegie Endowment for International Peace ในสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ขณะที่ ความล้มเหลวของภารกิจดาวเทียมสอดแนมของเกาหลีเหนือในวันพฤหัสบดีไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจมากมาย แต่สื่อเปียงยางก็ยังรายงานว่า เกาหลีเหนือมีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการนี้มากกว่าครั้งก่อนบ้าง
- ที่มา: รอยเตอร์