การแสดงศักยภาพทางทหารของเกาหลีเหนือ อาจนำมาซึ่งวิกฤตขาดแคลนอาหารที่รุนแรงขึ้น

FILE - People watch a TV showing a file image of North Korea's missile launch during a news program at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Jan. 25, 2022.

ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยธรรมให้ความเห็นว่า การยิงทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือที่เกิดขึ้นติดๆ กันในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้ภาวะขาดแคลนอาหารในประเทศรุนแรงขึ้น และยังทำให้ความพยายามขององค์กรต่างๆ ที่จะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเกาหลีเหนือเกิดขึ้นได้ยากเข้าไปอีก

กรุงเปียงยางยิงทดสอบขีปนาวุธอย่างแข็งขันตลอดช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยอาวุธชุดล่าสุดที่ทำการทดสอบไปคือ ขีปนาวุธพิสัยกลาง ฮวาซอง-12 (Hwasong-12) เมื่อวันอาทิตย์ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 7 ของการทดสอบนับตั้งแต่ต้นปีมา และการเริ่มยิงขีปนาวุธของปีนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลัง คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดประกาศคำมั่นว่า รัฐบาลของตนจะทุ่มความสนใจหลักๆ ในปีนี้ไปยัง “การผลักดันให้มีความคืบหน้าอย่างเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาหาร เครื่องนุ่มห่ม และที่อยู่อาศัย สำหรับประชาชน” ตามรายงานของสื่อ Korean Central News Agency (KCNA) ของรัฐ

People watch a TV showing a file image of North Korean leader Kim Jong Un shown during a news program at the Seoul Railway Station in Seoul, South Korea, Jan. 20, 2022.

คิม จอง อึน ยอมรับเมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว ระหว่างเข้าร่วมประชุมพรรคแรงงานเกาหลี (Workers’ Party of Korea – WPK) ว่า เกาหลีเหนือกำลังข้ามผ่านสถานการณ์ด้านอาหาร “ที่ตึงเครียด” โดยเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ ผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นและอุทกภัยในช่วงปีก่อนหน้า

เจอโรม โซวาจ ผู้ประสานงานขององค์การสหประชาชาติประจำเกาหลีเหนือในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2009 ถึง 2013 กล่าวว่า การที่กรุงเปียงยางทุ่มงบประมาณประเทศจำนวนมหาศาลไปยังกิจการด้านความมั่นคง โดยเฉพาะในส่วนงานโครงการนิวเคลียร์ ทำให้ผู้นำประเทศไม่สามารถดูแลประชาชนของตนได้อย่างเหมาะสม

โซวาจ ระบุว่า “ขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือกังวลเกี่ยวกับภาวะด้านสุขภาพและโภชนาการของประชาชนของตน ความกังวลดังกล่าวยังคงมีความสำคัญ (รองลงมา) จากเรื่องความมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก่อนเรื่องใดๆ เสมอ”

เอสเธอร์ อิม ผู้จัดการโครงการของ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยเกาหลีเหนือ (National Committee on North Korea – NCNK) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยกระดับความสำคัญขึ้นมากลายมาเป็นประเด็นขัดขวางการทำงานด้านมนุษยธรรมในประเทศนี้ไปแล้ว โดยเธอระบุระหว่างการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี ว่า การที่รัฐบาลกรุงเปียงยางมุ่งเน้นประเด็นความมั่นคงมากกว่าที่เป็นมาทำให้การนำส่งความช่วยเหลือต่างๆ เป็นเรื่องที่ยากขึ้น และทำให้ทุกฝ่ายต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า ในกรณีที่การนำส่งความช่วยเหลือนั้นทำได้จริง สิ่งของทั้งหลายที่ส่งไปจะถึงมือผู้ที่มีความต้องการที่สุด

ขณะเดียวกัน บรูซ เบนเนตต์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกลาโหมจาก RAND Corporation ประเมินว่า ต้นทุนการยิงขีปนาวุธ 11 ลูก ในการทดสอบของเกาหลีเหนือที่ผ่านมาทั้งหมด 7 ครั้งของปีนี้น่าอยู่ที่ประมาณ 33 ล้านดอลลาร์ถึง 110 ล้านดอลลาร์ โดยเบนเนตต์ กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินเพียงคร่าวๆ ซึ่งก็ยังต่ำกว่าต้นทุนการทดสอบขีปนาวุธในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ

และหากเกาหลีเหนือต้องใช้เงินราว 5 ล้านดอลลาร์ในการยิงทดสอบแต่ละลูก เมื่อนำตัวเลขนี้มาคำนวณคู่กับจำนวนขีปนาวุธที่ยิงทดสอบตั้งแต่ต้นปี ก็จะอยู่ราว 55 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ วิลเลียม บราวน์ อดีตนักวิเคราะห์ของ สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ชี้ว่า ด้วยราคาเฉลี่ยข้าวในตลาดโลกนั้นอยู่ที่ราว 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน เกาหลีเหนือจะต้องสั่งซื้อข้าวเป็นจำนวน 55,000 ตัน เพื่อให้ต้นทุนเท่ากับ 55 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน เจอโรม โซวาจ ผู้ประสานงานขององค์การสหประชาชาติ กล่าวเสริมว่า การที่เกาหลีเหนือจัดการยิงทดสอบติดๆ กันหลายครั้งนั้นจะไม่มีผลต่อการนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันที แต่จะกระทบต่อการตัดสินใจของประชาคมโลกเกี่ยวกับการจัดหาความช่วยเหลือให้เกาหลีเหนือ ซึ่งรวมความตั้งแต่การวางแผนจัดงานระดมทุน ไปถึงการนำส่งความช่วยเหลือในที่สุด

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ รายหนึ่งบอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี ว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือจากนานาชาติ “เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน” แม้ว่า สหรัฐฯ จะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเหนือกระทำก็ตาม

ภาวะขาดแคลนอาหารที่รุนแรงขึ้น

นโยบายสั่งปิดพรมแดนที่ยืดยาวมาตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2020 ของกรุงเปียงยาง อันเป็นผลมาจากภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ ปัจจัยหลักที่ทำให้สถานการณ์ด้านปริมาณอาหารในประเทศนี้เลวร้ายลงอย่างมาก

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า เกาหลีเหนือน่าจะต้องการการนำเข้าธัญพืชราว 1.1 ล้านตันในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2020 และ 2021 เพื่อมาชดเชยปริมาณการผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอ และเมื่อลองคำนวณดูจากแผนการนำเข้าจำนวน 205,000 ตันแล้ว ทาง FAO ประมาณการณ์ว่า เกาหลีเหนือควรจะต้องการอาหารราว 860,000 ตันเพื่อการบริโภคเป็นระยะเวลาประมาณ 2.3 เดือน

รายงานที่อ้างข้อมูลประเทศเกาหลีเหนือเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาระบุว่า ในการแจกจ่ายครั้งล่าสุดในประเทศนี้ มีอาหารเสริมสารอาหารจำนวน 891.5 ตัน และผลิตภัณฑ์อาหารดิบ 4,970 ตัน ซึ่งโครงการอาหารโลกขององค์การสหประชาชาติ (WFP) นำไปแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 566,886 คนเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว

นอกจากนั้น ผู้อำนวยการ WFP ประจำเกาหลีเหนือ คือ เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติคนสุดท้ายที่เดินทางออกจากประเทศนี้เมื่อเดือนมีนาคม ก่อนที่ตัวแทนองค์กรความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ จะแห่กันเดินทางออกมา เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของกรุงเปียงยางที่ส่งผลให้มีการจำกัดการค้าขายอย่างหนัก

โฆษกของ WFP รายหนึ่งบอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาเกาหลี ว่า ก่อนเกิดภาวะระบาดใหญ่ของโควิด-19 เกาหลีเหนือประสบปัญหาขาดความมั่นคงด้านอาหารและการขาดสารอาหาร รวมทั้ง มีความต้องการด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรมอย่างหนัก มายาวนานอยู่แล้ว และทางหน่วยงานนั้นสันนิษฐานว่า ผลกระทบจากนโยบายปิดพรมแดนและภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ น่าจะทำให้สถานการณ์ทั้งหลายเลวร้ายลงยิ่งไปอีก

นอกจากนั้น โฆษกของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) กล่าวว่า องค์การสหประชาชาตินั้นมีความพร้อมที่จะจัดหาความช่วยเหลือให้กับประชาชน เพื่อสนับสนุนการทำงานต่างๆ ของรัฐบาล และหวังว่า สถานการณ์นั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ของทางองค์การและเสบียงคลังต่างๆ สามารถเดินทางเข้าไปในเกาหลีเหนือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้