ขณะที่เกาหลีเหนือเผชิญกับยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น การมีวัคซีนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วัคซีนเหล่านี้จะต้องเก็บในอุณหภูมิเย็น และจะต้องแจกจ่ายโดยเจ้าหน้าที่การแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคซึ่งเกาหลีเหนือขาดแคลน
เมื่อวันอังคาร สำนักข่าวของทางการเกาหลีเหนือ Korea Central News Agency หรือ KCNA รายงานว่า มี “ผู้เป็นไข้” กว่า 32,810 รายในประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน และมียอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 4.5 ล้านคน นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน
การระบาดระลอกแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม
เกาหลีเหนือรายงานการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม โดยก่อนหน้านั้น เกาหลีเหนืออ้างว่าไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศเลยนับตั้งแต่โควิดระบาดไปทั่วโลกเมื่อต้นปีค.ศ. 2020
สำนักข่าว KCNA รายงานเมื่อวันอังคารว่า เกาหลีเหนือรับมือกับการระบาดด้วยการตรวจหาเชื้อในกรุงเปียงยาง ปริมณฑล และภูมิภาคที่มีความเสี่ยง เพื่อยืนยันการติดเชื้อ และใช้มาตรการกักตัว เช่น สร้างห้องกักตัวคนไข้ชั่วคราวกว่า 11,300 ห้อง
โฆษกของกาวิ (Gavi) เครือข่ายแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีว่า เกาหลีเหนือรับวัคซีนจากจีนและเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศ อย่างไรก็ตาม กาวิไม่ได้ระบุว่าเกาหลีเหนือเริ่มโครงการฉีดวัคซีนเมื่อใด และจีนส่งวัคซีนสูตรใดให้เกาหลีเหนือ
อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือไม่ได้ระบุว่าได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จะช่วยลดการเจ็บป่วย การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ในขณะนี้
'กาวิ'พร้อมสนับสนุนเกาหลีเหนือ
เกาหลีเหนือยังไม่รับวัคซีนจากสหรัฐฯ เกาหลีใต้ หรือโครงการแบ่งปันวัคซีนระหว่างประเทศ เช่น กาวิ โดยโฆษกของกาวิกล่าวว่า ทางกาวิพร้อมสนับสนุนเกาหลีเหนือทุกเมื่อ แต่จนถึงขณะนี้ ทางองค์กรยังไม่เคยได้รับคำขอวัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ
ฮีจี ลี นักวิจัยของโครงการนโยบายสาธารณสุขเกาหลี วิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ซึ่งเดินทางไปเกาหลีเหนือหลายครั้งนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 เพื่อสอนที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเปียงยาง กล่าวกับวีโอเอภาคภาษาเกาหลีว่า รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจไม่ได้ดำเนินโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่เนื่องจากมีความท้าทายด้านสาธารณสุข
ลีระบุว่า รัฐบาลเกาหลีเหนืออาจใช้ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์แทน เนื่องจากการควบคุมพฤติกรรมของประชาชน เช่น การล็อกดาวน์ การปิดชายแดน อาจเป็นวิธีที่ง่ายกว่าสำหรับรัฐบาลเกาหลี เมื่อเทียบกับการรับมือเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เกาหลีเหนือต้องเอาชนะอุปสรรคด้านการแพทย์และทางเทคนิคหลายประการหากต้องการดำเนินโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ เนื่องจากเกาหลีเหนือต้องนำเข้าที่ทำความเย็นเพื่อเก็บรักษาวัคซีน รวมทั้งต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคด้วย โดยเฉพาะหากเกาหลีเหนือต้องการใช้วัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่ต้องเก็บรักษาอย่างระมัดระวัง และต้องเก็บในอุณหภูมิที่เย็นมาก
ทั้งนี้ วัคซีนที่มีประสิทธิผลมากที่สุด เช่น วัคซีนจากไฟเซอร์และโมเดอร์นา ใช้เทคโนโลยี mRNA เพื่อสอนเซลล์ในร่างกายให้ผลิตโปรตีนและกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากไวรัส
วัคซีนของไฟเซอร์ต้องถูกขนส่งในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บในช่องแช่แข็งอุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียสได้ไม่เกินสองสัปดาห์ ในขณะที่วัคซีนของโมเดอร์นาถูกขนส่งในอุณหภมิ -50 ถึง -15 องศาเซลเซียส และถูกเก็บรักษาในช่วงอุณหภูมิเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์
หลังถูกนำมาละลายแล้ว วัคซีนทั้งสองสูตรสามารถถูกเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้ไม่เกินหนึ่งเดือน
จอห์น มัวร์ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา วิทยาลัยการแพทย์วีลล์ คอร์เนลล์ ในมหานครนิวยอร์ก ระบุว่า วัคซีนทั้งสองสูตรจะต้องถูกขนส่งและเก็บในอุณหภูมิที่เย็นมาก และจะต้องนำมาทำละลายและฉีดภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งวัน ซึ่งการจัดส่งและใช้ช่องแช่แข็งเพื่อเก็บรักษาวัคซีนนี่เองที่อาจเป็นความท้าทายด้านการขนส่ง ทำให้เกาหลีเหนืออาจไม่สามารถจัดการวัคซีนเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพได้
เขายังระบุด้วยว่า วัคซีนของจีนและวัคซีนสูตรโนวาแวกซ์ จะต้องถูกเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิราว 4 องศาเซลเซียสเช่นกัน
นากิ ชาฟิค อดีตผู้จัดการโครงการขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ระบุว่า เกาหลีเหนือต้องมีตู้เย็นที่เก็บความเย็นได้เย็นจัด ซึ่งยูนิเซฟสามารถมอบให้เกาหลีเหนือได้ หากเกาหลีเหนือต้องการใช้วัคซีนสูตร mRNA
เมื่อปีที่แล้ว ยูนิเซฟมอบเครื่องทำความเย็นจัด 800 หน่วยให้แก่ประเทศราว 70 ประเทศ เพื่อใช้เก็บรักษาวัคซีนสูตร mRNA
โฆษกกาวิระบุเพิ่มว่า ทางกาวิจะให้ความเห็นต่อความท้าทายในการใช้วัคซีน mRNA ของเกาหลีเหนือได้ ก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือส่งแผนฉีดวัคซีนทั่วประเทศให้กาวิ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นคำร้องเพื่อขอวัคซีน
วีโอเอภาคภาษาเกาหลีติดต่อคณะผู้แทนเกาหลีเหนือในสหประชาชาติ โดยถามว่าเกาหลีเหนือพร้อมรับวัคซีน mRNA หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ
เกาหลีเหนืออาจหันไปหาวัคซีนชนิดอื่น
ศาสตราจารย์มัวร์ระบุว่า เกาหลีเหนืออาจเก็บวัคซีนชนิดอื่น เนื่องจากมีความท้าทายในการใช้วัคซีน mRNA โดยเขาระบุว่า วัคซีนจีนใช้งานได้ง่ายกว่า และแม้จะมีคุณภาพปานกลาง แต่ก็สามารถลดโอกาสการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ โดย WHO ระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์มมีประสิทธิผลที่ 79% ขณะที่วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิผลที่ 51%
มัวร์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโนวาแวกซ์จากทางฝั่งตะวันตก โดยวัคซีนสูตรนี้มีประสิทธิผล 90% เมื่อเทียบกับวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์และโมเดอร์นาที่มีประสิทธิผลที่ 95%
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การใช้วัคซีนทุกสูตร โดยเฉพาะวัคซีน mRNA นั้น เกาหลีเหนือจะต้องอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากภายนอกให้เดินทางเข้าเกาหลีเหนือเพื่อดำเนินโครงการฉีดวัคซีนอย่างเหมาะสมได้
เกาหลีเหนือ “ต้องการความช่วยเหลือ”
ลี นักวิจัยแห่งวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด ระบุว่า เกาหลีเหนือจะต้องการความช่วยเหลือจากหุ้นส่วนทั่วโลกเพื่อให้ได้ความรู้จำเป็นในการฉีดวัคซีน รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เพื่อให้มั่นใจว่า การขนส่งและจัดเก็บวัคซีนด้วยความเย็นจะเป็นไปอย่างเหมาะสม
ผู้เชี่ยวชาญยังระบุด้วยว่า เกาหลีเหนือจะต้องมีพลังงานไฟฟ้ามากพอเพื่อรองรับหน่วยทำความเย็นจัดเก็บวัคซีน ทั้งวัคซีนสูตร mRNA และวัคซีนสูตรอื่น ๆ ทั่วประเทศที่มีประชากรเกือบ 26 ล้านคน
ทั้งนี เกาหลีเหนือไม่มีแหล่งไฟฟ้าที่มั่นคง โดยสารานุกรม CIA World Factbook ระบุว่า เมื่อปีค.ศ. 2019 มีชาวเกาหลีเหนือเพียง 26% เท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้าได้
ลีกล่าวว่า เกาหลีเหนือมีระบบทำความเย็นพลังงานแสงอาทิตย์ และมีแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อรองรับหากระบบไฟฟ้ามีปัญหา อย่างไรก็ตาม อาจต้องมีการใช้เครื่องเก็บความเย็นพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยหากเกาหลีเหนือต้องการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่
ชาฟิค อดีตเจ้าหน้าที่ของยูนิเซฟ ระบุว่า ยูนิเซฟมอบตู้เย็นพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำงานได้ดีในโครงการฉีดวัคซีนทั่วไป แต่สำหรับโครงการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่นั้น อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ตู้เย็นรองรับการฉีดวัคซีนได้อย่างเหมาะสม
- ที่มา: วีโอเอ