“วัณโรค” ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางการหายที่แพร่กระจายได้ผ่านทางละอองเสมหะขนาดเล็ก คือ เป้าหมายการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ในการพัฒนาการทดสอบแบบใหม่ที่จะมาช่วยลดข้อบกพร่องของการวินิจฉัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
มิเรลล์ คามาริซา วิศวกรชีวภาพโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (UCLA) เป็นชาวบุรุนดี ประเทศที่ตั้งทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา และเธอได้คิดค้นวิธีที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ในการทดสอบเชื้อแบคทีเรียวัณโรคได้สำเร็จ
วิธีที่ว่า คือการใช้ “น้ำตาลป่นแบบผง” ละลายกับน้ำเปล่า หลังจากนั้นนำเสมหะหรือเลือดของผู้ป่วยที่ต้องการทดสอบมาผสม โดยภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้ผลตรวจออกมา
คามาริซา อธิบายว่า “ต้นกำเนิดของโครงนี้ คือแนวคิดที่ว่า นำสิ่งที่แบคทีเรียชื่นชอบในการย่อยมาใช้ ในกรณีนี้คือน้ำตาล จากนั้นตรวจด้วยไบโอเซนเซอร์ (Biosensor) แล้วดูว่า จะตอบสนองอย่างไร ซึ่งเป็นวิธีที่ให้ผลลัพธ์ดีเยี่ยม”
ทั้งนี้ Biosensor คือ การตรวจวัดสารเคมีโดยการแปลงสารชีวภาพเป็นสัญญาณทางไฟฟ้า
เทรซี จอห์นสัน คณบดีวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาลัย UCLA (UCLA Life Sciences ชี้ถึงจุดด้อยของวิธีทดสอบเชื้อวัณโรคต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ การเพาะเลี้ยงเชื้อ (Culture) ที่จะต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Smear Microscopy) ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ที่คลาดเคลื่อน และการตรวจทางอณูชีววิทยา (Molecular test) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง
จอห์นสัน กล่าวถึงวิธีตรวจเชื้อแบคทีเรียที่พัฒนาโดยคามาริซา ว่า ทำให้เห็นเชื้อได้ชัดขึ้น แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์ทั่วไป เช่น รุ่นที่ใช้ในคลินิกภาคสนาม ประเทศยูกันดา ก็ยังสามารถตรวจจับเชื้อวัณโรคได้ นับว่าเป็นวิธีที่ “สร้างความเปลี่ยนแปลง” อย่างแท้จริง
ผลการทดสอบด้วยวิธีนี้ ยังสามารถจำแนกสถานะของเชื้อแบคทีเรีย ว่า เป็นประเภทมีชีวิต หรือว่า เป็นเพียงซากเท่านั้น อันจะนำไปสู่การระบุว่า ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มแพร่เชื้อหรือไม่ และตรวจได้ด้วยว่า ผู้ป่วยคนนั้นตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ ทั้งยังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงด้วย
วิศวกรชีวภาพโมเลกุลจาก UCLA ผู้คิดค้นวิธีนี้อธิบายว่า เมื่อทำการทดสอบในจำนวนมาก น้ำตาลผงที่ใช้ต่อการทดสอบหนึ่งครั้ง จะมีราคาที่ต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ หรือว่าราว 36 บาทเท่านั้น
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่า ในปี 2022 มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคสูงถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งความก้าวหน้าในการคัดกรองนี้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การลดลงของตัวเลขผู้ป่วยและเสียชีวิตจากเชื้อวัณโรคต่อไป
- ที่มา: วีโอเอ