นวัตกรรมใหม่เปิดตัวในปี 2020 กู้วิกฤตโควิด-19

Japanese startup Donut Robotics' c-mask and its mobile phone application is pictured during a demonstration in Tokyo, Japan June 23, 2020. Picture taken June 23, 2020. (REUTERS/Kim Kyung-Hoon)

Your browser doesn’t support HTML5

Pandemic Innovation


การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกในปีค.ศ. 2020 หลาย ๆ บริษัท ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนักที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก แต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการต่อสู้กับโรคนี้เพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้น

เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตวาล์ว​ออกซิเจน - เครื่อง​เอกซเรย์ทรวงอก​

บริษัทแห่งใหม่ของอิตาลี Isinnova ค้นพบวิธีใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในการผลิตวาล์วที่ใช้เปิดปิดท่อออกซิเจนให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหายใจ บริษัทนี้ได้ผลิตอุปกรณ์ช่วยชีวิตโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหลังจากที่ทราบว่าโรงพยาบาลในอิตาลีหลายแห่งประสบปัญหาขาดแคลนวาล์วเปิดปิดท่อออกซิเจนอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติ บริษัทเทคโนโลยีอเมริกัน IBM และบริษัทธุรกิจซอฟต์แวร์ของยุโรป SAP ได้เปิดตัวโครงการ CodeTheCurve "hackathon" เพื่อเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวหาวิธีการใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ในการรับมือกับโควิด-19 ที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

หนึ่งในทีมที่ชนะได้สร้างระบบที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องจักรและเทคโนโลยีรูปภาพในการตรวจเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อระบุผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ส่วนอีกทีมพัฒนาแอพฯ ที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อให้ผู้ใช้สำรวจสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในขณะที่ออกกำลังกายจากที่บ้าน

ทั้งนี้ หลายบริษัทได้ศึกษาประสิทธิภาพของอุปกรณ์สวมใส่เพื่อระบุชี้อาการเริ่มต้นของโควิด-19

อุปกรณ์ระบุอาการเริ่มต้นโควิด-19

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเวสต์ เวอร์จิเนีย ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าอุปกรณ์ที่พวกเขาทดสอบสามารถระบุอาการเริ่มต้นของโควิด-19 ได้ถึงสามวันก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ

โครงการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ดำเนินการโดยสถาบันวิจัย Scripps ในรัฐแคลิฟอร์เนียได้ตรวจสอบข้อมูลจากอุปกรณ์ที่อาสาสมัครมากกว่า 30,000 คนสวมใส่ นักวิจัยกล่าวว่าผลการทดลองในช่วงแรกแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถระบุผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการของโควิด-19 ได้สำเร็จ

นอกจากนี้แล้ว บรรดานักวิจัยได้รายงานความสำเร็จของระบบการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่ออกแบบมาเพื่อระบุตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากเสียงของการไอ ซึ่งการศึกษาฉบับหนึ่งโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แสดงให้เห็นว่าวิธีนี้มีอัตราความสำเร็จสูงในการระบุผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ที่ไม่แสดงอาการทางกายภาพของโรค

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ของรัฐเพนซิลเวเนียได้ใช้วิธีการที่คล้ายกันนี้ในการพัฒนา “ระบบทดสอบโควิด-19 ด้วยเสียง” ระบบดังกล่าวใช้การบันทึกเสียงไอเช่นเดียวกับเสียงสระและตัวอักษรบางตัวเพื่อระบุสัญลักษณ์ของอาการป่วยนี้

หน้ากากอัจฉริยะ

ที่ประเทศญี่ปุ่น มีการผลิตหน้ากาก“ อัจฉริยะ” เพื่อช่วยให้ผู้ที่สวมใส่หน้ากากสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น บริษัท Donut Robotics เรียกสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า "c-mask" ซึ่งสามารถใส่ทับหน้ากากชนิดอื่น ๆ ที่สวมใส่ในที่สาธารณะได้พอดี

หน้ากากดังกล่าวทำจากวัสดุพลาสติกชนิดอ่อนและมีไมโครโฟนในตัว โดยใช้เทคโนโลยีบลูทูธ เพื่อเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจะมีแอพฯ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถดำเนินการหลาย ๆ อย่าง รวมไปถึงการเปลี่ยนคำพูดให้เป็นข้อความ การโทรออก และการทำให้เสียงของผู้ใช้ดังขึ้น นอกจากนี้อุปกรณ์นี้ยังสามารถแปลเสียงจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอื่น ๆ ได้อีกแปดภาษาอีกด้วย

เครื่องติดตามตรวจสอบผู้ติดเชื้อ

บริษัท Apple และ Google ได้ร่วมมือกันเปิดตัวเครื่องมือสำหรับโทรศัพท์มือถือเพื่อติดตามผู้ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส เทคโนโลยีนี้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับแอพฯ ที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯ และอีกหลาย ๆ ประเทศที่ใช้ในการติดตามหาผู้ที่ติดเชื้อ

ระบบดังกล่าวทำงานด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Bluetooth ซึ่งสามารถให้อุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ๆ กันแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างบันทึก หากผู้ใช้อุปกรณ์ติดเชื้อและยินยอมที่จะแบ่งปันข้อมูล บันทึกดังกล่าวจะใช้เพื่อแจ้งให้คนอื่นทราบว่าพวกเขาอาจติดเชื้อเข้าให้แล้ว