การเข้าถึงจิตใจของผู้สูงอายุ เป็นหัวใจสำคัญของการดูเเลกลุ่มประชากรนี้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพให้บริการด้านสุขภาพ
สหประชาชาติระบุว่าจำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เติบโตเร็วกว่ากลุ่มประชากรอื่นๆในโลก
และเมื่ออาชีพดูเเลคนสูงวัยเป็นงานที่ต้องการผู้มีความรู้ความชำนาญ บริษัทอเมริกัน ที่ชื่อ Embodied Labs จึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าใจการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้น
บริษัทนำนวัตกรรม "วีอาร์" (Virtual Reality) มาใช้ เพื่อสร้างโลกเสมือนจริง ที่สะท้อนข้อจำกัดด้านสุขภาพ เช่นการมองเห็นภาพพร่ามัว หรืออาการหลงลืม ที่มักพบในผู้สูงอายุ
เเคร์รี่ ชอว์ ซีอีโอของบริษัท Embodied Labs กล่าวว่า กล้องวีอาร์ที่นำมาสวมบนหน้า ช่วยทำให้ผู้ใส่รับรู้ถึงการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
เธอบอกว่ากล้องวีอาร์ช่วยให้คนที่สวมใส่เห็นอนาคตเมื่อตนอายุมากได้ และเมื่อรับรู้ถึงสิ่งท้าทายที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน ผู้ใช้เทคโนโลยีนี้ก็จะใจเย็นมากขึ้นและอยู่กับคนสูงวัยด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังอาจช่วยลดการมองว่าโรคของคนสูงอายุเช่น อัลไซเมอร์ เป็นสิ่งน่าละอาย
แม่ของเเคร์รี่ ชอว์ เองก็ป่วยเป็นโรคดังกล่าวและเธอพบว่าผู้ดูเเลแม่ของเธอเเม้จะเป็นมืออาชีพแต่ก็ยังประสบความท้าทายในทำงานกับผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ เช่นบางครั้งคนป่วยไม่ต้องการให้ถูกมองโดยพยาบาลหรือคนดูเเลว่าเป็นเด็ก และเกิดการถกเถียงกันขึ้น
ซีอีโอหญิงผู้นี้กล่าวว่า บริษัท Embodied Labs ใช้ซอฟต์แวร์ที่เลียนแบบโลกของคนสูงวัย ร่วมกับอุปกรณ์ที่เป็นกล้องวีอาร์ โดยทำให้มีความคล้ายกับเกมส์ที่ผู้เล่นและโปรแกรมตอบสนองต่อปฏิกิริยาของกันและกัน
เจมี ฮานแนนส์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต Channel Islands ใช้เทคโนโลยีของบริษัท Embodied Labs อบรมนักเรียนวิชาพยาบาลศาสตร์ เธอบอกว่ากล้องวีอาร์ช่วยให้คนเข้าใจถึงการมองที่เสื่อมลงของผู้สูงอายุได้ด้วย และช่วยให้พยาบาลสังเกตเเละถามคำถามผู้ป่วยเรื่องการมองเห็นได้อย่างเหมาะสม
และเพื่อเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้ดูแลคนสูงวัย อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ของบริษัท Embodied Labs จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้กล้องวีอาร์สนทนาและสะท้อนความรู้ใหม่ที่ได้จากประสบการณ์เสมือนจริงในโลกของผู้สูงอายุอีกด้วย