ผลการศึกษาเผย โลกมี 'ประชากรมด' 2 หมื่นล้านล้านตัว

A Leaf-cutting Ant (Atta cephalotes) carries a leaf with another ant at La Selva biological station in Sarapiqui, 80 miles (129 km) north of San Jose, Costa Rica January 12, 2006. (REUTERS/Juan Carlos Ulate)

ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ประมาณการว่า มีประชากรมด 2 หมื่นล้านล้านตัวในโลก หรือมีมดราว 2.5 ล้านตัวต่อมนุษย์หนึ่งคน

ผลการศึกษาดังกล่าวจัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงและมหาวิทยาลัยเวิร์ซบวร์กของเยอรมนี โดยระบุว่า มดเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จและแพร่ขยายได้มากที่สุดในโลก แต่ก็ยอมรับว่า การประมาณการดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริง

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences นี้ อธิบายว่า นักวิจัยรวบรวมข้อมูลของมดที่อาศัยในดินและตามต้นไม้ จากผลการศึกษา 489 ชิ้นที่ครอบคลุมทุกทวีป ทุกชีวนิเวศ และทุกสิ่งแวดล้อมหลัก จนสรุปและประมาณการได้ว่า มีมดในโลกนี้ราว 2 หมื่นล้านล้านตัว โดยมีมวลชีวภาพรวมกัน 12 ล้านตัน

นักวิจัยระบุว่า มวลชีวภาพดังกล่าวมีจำนวนมากกว่ามวลชีวภาพของนกป่าและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมกัน และมีปริมาณเป็น 20% ของมวลชีวภาพของมนุษย์

นักวิจัยยังอธิบายด้วยว่า การนับจำนวนมดที่ถูกต้องและการทำความเข้าใจรูปแบบของมด อาจช่วยในการรักษาระบบนิเวศและสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วโลก

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า มีจำนวนมดไม่สม่ำเสมอกันในแต่ละพื้นที่ของโลก และแม้ปกติจะพบมดมากกว่าในเขตร้อน แต่จำนวนมดก็ยังขึ้นอยู่กับระบบนิเวศของแต่ละที่ด้วย

ซาบีน นูเต็น นักวิจัยของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง หนึ่งในหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ ระบุว่า มดทำหน้าที่ “ให้บริการทางนิเวศวิทยา” เช่น ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุและควบคุมศัตรูพืช

เบนอยต์ กีนาร์ด นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกง และนักวิจัยอาวุโสของผลการศึกษาชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า การนับจำนวนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดข้อมูลที่เกี่ยวกับธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมาก และเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อเติมเต็มความรู้ที่ยังขาดหายไปให้มากขึ้นด้วย

  • เนื้อหาบางส่วนจากรอยเตอร์