อาวุธใหม่ ยุทธศาสตร์เดิม: วิเคราะห์รัสเซียยิงขีปนาวุธรุ่นใหม่ใส่ยูเครน

  • VOA

ซากบ้านเรือนในเมืองดนิโปรของยูเครน ที่ได้รับความเสียหายจากขีปนาวุธของรัสเซีย วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024 (ที่มา: Reuters)

ขณะที่สมรภูมิยูเครนกำลังเป็นเป้าหมายของขีปนาวุธรุ่นใหม่จากรัสเซีย นักวิเคราะห์มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงชาติตะวันตกในเรื่องเขี้ยวเล็บทางทหาร แต่ก็สะท้อนตำรายุทธศาสตร์ที่เคยใช้มาแล้ว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เมืองดนิโปรของยูเครน เป็นพื้นที่เป้าหมายของขีปนาวุธพิสัยกลาง ‘โอเรชนิค’ ของรัสเซีย ซึ่งเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่รวดเร็ว ทรงพลัง และสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เรียกการโจมตีดังกล่าวว่าเป็น “การผจญภัยด้านนิวเคลียร์” ถือเป็นสัญญาณการยกระดับของสงครามที่กำลังเข้าขวบปีที่สาม และบ่งชี้ว่าปูติน “กำลังใช้ยูเครนเป็นพื้นที่ทดลองอาวุธที่คุกคามโลก”

คำกล่าวของเซเลนสกีสะท้อนถึงความกังวลของกรุงเคียฟต่อความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะใช้ระบบอาวุธที่ทันสมัยโจมตีเป้าหมายพลเรือน

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่า “สหพันธรัฐรัสเซียได้ทดลองขีปนาวุธพิสัยกลางที่รู้จักกันในชื่อโอเรชนิคระหว่างปฏิบัติการในยูเครน”

รองโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซาบรินา ซิงห์ กล่าวว่าสหรัฐฯ ได้รับการแจ้งเตือนก่อนมีการยิงขีปนาวุธดังกล่าวผ่านช่องทางสื่อสาร Nuclear Risk Reduction channels ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารกับรัฐบาลต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้อาวุธนิวเคลียร์

วาเลรีย์ เชลี อดีตเอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่าการใช้ขีปนาวุธครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งยูเครนและชาติพันธมิตรตะวันตกต้องเผชิญ

เขากล่าวว่าการตอบโต้การโจมตีนี้จะต้องชัดเจน เด็ดขาด และเป็นหนึ่งเดียว ที่จะไม่ไปหนุนเสริมความมั่นใจของรัสเซีย และบั่นทอนความมั่นคงปลอดภัยของโลก

นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคียร์ สตาร์เมอร์ เรียกการโจมตีของรัสเซียว่า “บ้าบิ่นและอันตราย” ส่วนปีเตอร์ สตาโน โฆษกสหภาพยุโรปด้านกิจการระหว่างประเทศ มองว่ารัสเซียยกระดับยุทธวิธีขึ้น สืบเนื่องจากการใช้ขีปนาวุธครั้งนี้

ความกำกวมทางยุทธศาสตร์

ชาวเมืองดนิโปรที่มีความคุ้นเคยกับสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ และถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธ ระบุว่าการถูกยิงด้วยโอเรชนิคให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการโจมตีครั้งก่อน ๆ

โอเลคซีย์ โปลโตราซกี ชาวเมืองดนิโปร กล่าวว่าขีปนาวุธนี้ตกถึงเป้าหมายแทบจะทันทีที่เสียงไซเรนเตือนภัยเริ่มต้น

จอร์จ บาร์รอส ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียจากสถาบันการศึกษาสงคราม กล่าวกับวีโอเอว่า “เรื่องหลักก็คือการไม่ตื่นตระหนก ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าแนวโน้มที่ปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างสูง จะมีมากไปกว่าช่วงอื่น ๆ ในสงครามนี้”

เขากล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียใช้ระบบอาวุธที่สามารถปรับใช้ในด้านนิวเคลียร์ได้กับยูเครน” และมองว่าการใช้โอเรชนิคคือการส่งสัญญาณไปยังชาติตะวันตก เพื่อป้องปรามการสนับนนุนยูเครน

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการยืนยันการใช้ขีปนาวุธจากปากของปูติน ข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น ๆ เช่นโฆษกรัฐบาลเครมลิน ดิมิทรี เพสคอฟ หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ มาเรีย ซาคาโรวา ก็มีอยู่อย่างจำกัด และมีการรายงานด้วยว่าซาคาโรวาถูกกำชับว่าไม่ให้พูดถึงการโจมตีเมื่อวันพฤหัสบดีในการแถลงข่าว

ด้วยข้อมูลที่มีจำกัดเช่นนี้ ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ารัสเซียกำลังใช้ความกำกวมเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหวังให้ชาติตะวันตกเกิดความไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป

  • ที่มา: วีโอเอ