เทศมองไทย: รัฐบาล ‘เศรษฐา’ น่าจะมุ่งรักษาสมดุลสหรัฐฯ – จีน ต่อไป

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ให้สัมภาษณ์ที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทยในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

นักวิเคราะห์มองว่า หลังจากไทยมีรัฐบาลภายใต้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานเก้าปี รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพลเรือนอาจต้องการเข้าหาชาติตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตย อย่างสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะที่ยังรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับทางจีนด้วยเช่นกัน

พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับสอง ได้จัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้เพื่อไทยจะจับมือกับที่สนับสนุนบรรดานายพลที่เป็นผู้นำของรัฐบาลชุดก่อน แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า รัฐบาลเพื่อไทยอาจต้องการวางตนให้แตกต่างจากรัฐบาลที่แล้ว


“รัฐบาลเพื่อไทยอาจเข้าหาสหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญมากขึ้น อาจเพื่อทั้งวางจุดยืนที่แตกต่างจากรัฐบาลก่อน ๆ และที่ผ่านมา ความสม่ำเสมอทางอุดมการณ์ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในนโยบายต่างประเทศไทยเท่าใดนัก” เบนจามิน ซาวัคคิ ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground between the US and a Rising China กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต นักวิชาการอาวุโส โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS ในกรุงวอชิงตัน กลับมองว่า “แบรนดิ้ง” ความเป็นประชาธิปไตยของเพื่อไทยอาจไม่ใช่จุดแข็งเท่าใดนัก เนื่องจากเพื่อไทยเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแทนที่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่างพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยชูธงว่าตนเป็น “พรรคฝั่งประชาธิปไตย” มาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งในช่วงที่เพื่อไทยเข้ามามีบทบาทจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกลเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ทางพรรคก็ชูสโลแกนว่า “เดินหน้าตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย แก้ปัญหาให้ประชาชน”

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (คนที่สามจากทางขวา) จับมือร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรคภูมิใจไทย รวมทั้งอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (คนที่สามจากทางซ้าย) ระหว่างการแถลงข่าวที่ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2023

ขณะเดียวกัน เกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์ด้านการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า การที่เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการการเมืองจำนวนมาก อาจทำให้เพื่อไทยมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ รวมถึงนโยบายต่างประเทศ

อาจารย์เรย์มอนด์ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินนโยบายในทางสายกลางระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นนโยบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับไทย

นโยบายต่างประเทศแบบ “นักธุรกิจพลเรือน”

ในบรรดาตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ ที่ถูกจัดสรรให้พรรคร่วมรัฐบาลนั้น เพื่อไทยได้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นสองกระทรวงที่มีความสำคัญต่อบทบาทในเวทีต่างประเทศของไทย

รัฐมนตรีของทั้งสองกระทรวงเป็นผู้ที่อยู่กับทางพรรคมานานตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย โดยตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงบัวแก้วควบรองนายกรัฐมนตรีเป็นของปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตผู้แทนการค้าไทยในยุคของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่สุทิน คลังแสง อดีต สส. หลายสมัยและอดีตประธานแนวร่วม “คนเสื้อแดง” จังหวัดมหาสารคาม ได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวที่เป็นพลเรือนที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี

เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงของไทยกับจีนและชาติตะวันตกที่ผ่านมา จีนได้สนับสนุนความต้องการด้านความมั่นคงของไทยมาโดยตลอด รวมถึงช่วงที่ชาติตะวันตกลดระดับความสัมพันธ์กับไทยหลังเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยเฉพาะสัญญาซื้อเรือดำน้ำสามลำของรัฐบาลไทยจากรัฐบาลจีน มูลค่า 36,000 ล้านบาท ขณะที่มิตรภาพระหว่างไทยกับชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ถูกฟื้นฟูเป็นปกติอีกครั้งหลังมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวมถึงมีการเสนอขายอาวุธให้ไทยด้วย

ทหารไทยขึ้นฝั่งพร้อมยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก ระหว่างการฝึกซ้อมรบร่วมคอบร้าโกลด์ ที่หาดยาว จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2023

นอกจากสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการซ้อมรบคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการซ้อมรบพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งจัดในไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว แม้จะมีการลดขนาดกำลังพลที่เข้าร่วมในปี 2557 ที่เกิดรัฐประหารในไทยก็ตาม ไฮเบิร์ตแห่งศูนย์ CSIS ยังระบุด้วยว่า เมื่อปี 2563 สหรัฐฯ ได้จำหน่ายยานหุ้มเกราะสไตรค์เกอร์ 60 คัน และเฮลิคอปเตอร์รุ่น Reconnaissance แปดลำให้กับไทยด้วย

ปานปรีย์ ซึ่งเป็นเทคโนแครตสายเศรษฐกิจของเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า นโยบายต่างประเทศของเพื่อไทยจะมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาค เพิ่มการเจรจาทางการค้า และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามายังไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเคยเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ให้ความสำคัญกับนโยบายสายเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็น “จุดแข็ง” ของพรรคเพื่อไทย โดยเขาหวังว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนักธุรกิจต่างชาติ เกี่ยวกับโอกาสการลงทุนในไทย ในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในเดือนนี้

Thailand Politics

แม้เพื่อไทยจะยังไม่เผยถึงแผนเจรจาธุรกิจกับทางฝั่งจีน แต่เรย์มอนด์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย คาดการณ์ว่า เพื่อไทยจะสนับสนุนการลงทุนจากจีนในโครงการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในไทย เช่น โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาเครือข่าย 5G โดยเขาเห็นว่า โดยรวมแล้ว เพื่อไทยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างไทยกับจีน

ทางด้านซาวัคคิมองว่า รัฐบาลเพื่อไทยอาจให้ความสำคัญต่อโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนในไทยมากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีความคืบหน้าค่อนข้างล่าช้า โดยขณะนี้ มีเพียงสัญญาก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมาเท่านั้น ขณะที่โครงการทั้งหมดควรเชื่อมโยงกับโครงการทางรถไฟสายจีน-ลาว ในกรุงเวียงจันทน์ของลาว

“เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่ผ่านมาระหว่างเพื่อไทยกับจีน และความต้องการมีจุดยืนที่แตกต่างกับรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ รวมถึงฐานเสียงของเพื่อไทยในภาคอีสานที่ยังแข็งแรงแต่ต้องมีการเสริมฐานให้มั่นคงแล้ว ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟ (ความเร็วสูง) มากขึ้น” ซาวัคคิกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า เมื่อปี 2565 จีนลงทุนเป็นมูลค่า 77,381 ล้านบาทในไทย ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และศูนย์ข้อมูล ขณะที่สหรัฐฯ ลงทุนเป็นเงิน 50,296 ล้านบาทผ่านทางโครงการ 33 โครงการในไทย

นโยบายต่อเมียนมาอาจไม่เปลี่ยนแปลงนัก

แม้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทยจะถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหาร แต่นักวิเคราะห์มองว่า ประวัติที่พรรคเคยเป็นเหยื่อของการรัฐประหารมาก่อนอาจไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายของไทยต่อเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารและเผชิญกับความรุนแรงในประเทศมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2564

อาจารย์เรย์มอนด์เห็นว่า การที่นโยบายของไทยในยุคพรรคเพื่อไทยต่อเมียนมาอาจไม่เปลี่ยนแปลงนัก เป็นได้ทั้งการดำเนินนโยบายที่มีขีดจำกัดจากพรรคร่วมจำนวนมากที่มีพรรคสนับสนุนทหารรวมอยู่ด้วย และการที่เพื่อไทยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางธุรกิจของไทยในเมียนมามากกว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน ซาวัคคิมองว่า จุดยืนของไทยต่อเมียนมาในยุคหลังรัฐประหาร ควร “อยู่บนพื้นฐานของการคำนวณ (ความสัมพันธ์) กับจีนและสหรัฐฯ เหมือนเช่นที่เป็นมาตลอด” ขณะที่ไฮเบิร์ตระบุว่า ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะจับต่อมองนโยบายของไทยต่อเมียนมาอย่างระมัดระวัง

ผู้ประท้วงชูรูปของออง ซาน ซู จี และชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ระหว่างการชุมนุมเนื่องในวาระครบรอบสองปีการรัฐประหารในเมียนมา บริเวณนอกสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2023

ทั้งนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ออกมาตรการลงโทษต่อกองทัพเมียนมาและเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ท่าทีของจีนต่อเมียนมานั้นให้ความสำคัญกับความมั่นคงในเมียนมาที่ส่งผลต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนมากกว่า

สำนักข่าว Radio Free Asia ภาคภาษาพม่า รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานการลงทุนและบริษัทของรัฐบาลทหารเมียนมาว่า นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดรัฐประหารในปี 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จีนลงทุนในเมียนมาเป็นมูลค่ากว่า 113 ล้านดอลลาร์


ทั้งนี้ช่วงปี 2561-2562 ช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำนักข่าวอิรวดีของเมียนมารายงานว่า การลงทุนของจีนในช่วงสองปีดังกล่าวอยู่ที่ 309.8 ล้านดอลลาร์