Your browser doesn’t support HTML5
ยอดเขาเอเวอเรสต์คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก แต่ยังคงมีการถกเถียงถึงความสูงที่แท้จริงของยอดเขาแห่งนี้ ล่าสุดเนปาลได้เริ่มโครงการวัดความสูงของเอเวอเรสต์อีกครั้ง โดยจะใช้เวลาสองปี ซึ่งรัฐบาลเนปาลถือว่าโครงการนี้เป็นศักดิ์ศรีของประเทศ
เนปาลประกาศโครงการ 2 ปี เพื่อวัดความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ เป้าหมายเพื่อลดความงุนงงสับสนเกี่ยวกับความสูงที่แท้จริงของยอดเขาแห่งนี้
เนปาลถือว่าโครงการนี้เป็นความภูมิใจของประเทศ เพราะก่อนหน้านี้มีเพียงจีนและอินเดียที่ได้ทำการวัดความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์อย่างเป็นทางการ แต่เนปาลต้องการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตนเองว่าไม่ได้ด้อยไปกว่ามหาอำนาจของเอเชียทั้งสองประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด
ยอดเขาเอเวอเรสต์นอกจากจะเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ยังถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเนปาลที่สร้างรายได้หลายล้านดอลลาร์เข้าประเทศ จากนักปีนเขาทั่วโลกที่ต้องการพิชิตยอดเขาแห่งนี้
ปฏิบัติการวัดความสูงของยอดเอเวอเรสต์เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1854 ก่อนที่อีก 100 ปีต่อมาจะมีการสำรวจอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลอินเดีย ซึ่งวัดระดับความสูงได้ที่ 8,848 เมตร
ต่อมาในปี ค.ศ. 1999 คณะนักสำรวจของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก National Geographic Society ได้ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจความสูงของยอดเอเวอเรสต์อีกครั้ง และระบุว่ามีความสูงที่ 8,850 เมตร
แต่ในอีก 6 ปีต่อมา คณะนักสำรวจจากจีนได้ปีนขึ้นไปถึงยอดเขา และระบุว่าความสูงที่แท้จริงของยอดเอเวอเรสต์นั้นคือ 8,844.43 เมตร ซึ่งต่ำกว่าที่คณะสำรวจของสหรัฐฯ บอกไว้
จุดขัดแย้งของเรื่องนี้เกิดขึ้นระหว่างเนปาลกับจีน เนื่องจากยอดเขาแห่งนี้อยู่ระหว่างพรมแดนของทั้งสองประเทศ จึงถือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่ต้องมีตัวเลขของตนเองที่ชัดเจน โดยจีนยึดเอาตัวเลข 8,844.43 เมตร จากการวัดครั้งล่าสุดที่จีนบอกว่าวัดถึงระดับพื้นดินของจุดสูงสุดของเอเวอเรสต์ แต่ทางเนปาลยังยึดเอาตัวเลข 8,848 เมตร ที่อินเดียระบุไว้เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน โดยบอกว่าเป็นการวัดรวมหิมะที่ปกคลุมจุดสูงสุดของยอดเขาไว้ด้วย
ปัญหาเรื่องนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเนปาลเมื่อปี 2015 ซึ่งทำให้เกิดดินถล่มยอดเขาเอเวอเรสต์ด้วย จนก่อให้เกิดคำถามว่าความสูงของเอเวอเรสต์ได้ลดลงจากแผ่นดินไหวครั้งนั้นหรือไม่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกได้ส่งผลกระทบต่อสภาพธรณีวิทยาของเทือกเขาหิมาลัยหรือไม่อย่างไร
เมื่อต้นปีนี้ อินเดียเสนอว่าจะวัดความสูงของเอเวอเรสต์รอบใหม่ แต่ทางเนปาลยืนยันว่าจะเริ่มโครงการวัดความสูงด้วยตัวเอง ในฐานะที่เอเวอเรสต์เป็นมรดกของเนปาล
ทางการเนปาลระบุว่าจะเริ่มส่งคณะสำรวจพร้อมอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขึ้นไปยังยอดเขาเอเวอเรสต์ในช่วงกลางปีหน้า และจะใช้เวลาอีกหนึ่งปีสำหรับการสำรวจและประมวลผล จากนั้นจะขอการรับรองจากสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก เพื่อให้ระดับความสูงใหม่นี้เป็นที่ยอมรับเป็นสากล
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลเนปาลจะให้ความสำคัญกับการวัดระดับความสูงของยอดเขาที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกแห่งนี้เพราะถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ แต่สำหรับชาวเนปาลทั่วไปที่ต้องอาศัยเทือกเขาหิมาลัยในการดำรงชีพ ดูเหมือนสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือการได้รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อเทือกเขาอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ มากน้อยเพียงใด
(ผู้สื่อข่าว Anjana Pasricha รายงานจากกรุงนิวเดลี / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)