Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นที่รู้กันดีอยู่เเล้วว่า ฮอร์โมน Oxytocin มีผลดีในการช่วยลดความวิตกกังวล และช่วยให้เกิดความสบายใจ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่โรงพยาบาลออสโลแห่งนอร์เวย์จึงได้ร่วมมือกับบริษัท Optinose บริษัทด้านไบโอเทคโนโลยีในนอร์เวย์ พัฒนาอุปกรณ์สเปรย์ฉีดจมูกที่ใช้กับฮอร์โมน Oxytocin นี้ออกมา
Dr. Per Djupesland ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Optinose กล่าวว่า ผู้ป่วยใช้สเปรย์ดังกล่าวสอดเข้าไปในปากเเละรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ขบริมฝีปากรอบอุปกรณ์ให้สนิทก่อนสูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วหายใจออกทางปากเพื่อเป่าลมเข้าสู่อุปกรณ์
ลมหายใจที่เป่าออกทางปากจะช่วยนำเอาตัวยากระจายเข้าไปลึกภายในโพรงจมูก เขากล่าวว่า อุปกรณ์นี้ช่วยให้ฮอร์โมน Oxytocin เข้าไปถึงระบบประสาทส่วนกลางได้รวดเร็วขึ้นกว่าสเปรย์แบบปั้มที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
สเปรย์จมูกตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นในนอร์เวย์นี้ยังสามารถฉีดฮอร์โมน Oxytocin ในปริมาณเล็กน้อยซึ่งถือว่าปลอดภัยกับผู้ป่วย
คุณ Daniel Quintana นักวิจัยทุนที่โรงพยาบาลออสโลกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนมากมักมีความบกพร่องด้านความสามารถในการเข้าสังคมกับคนอื่น อาทิ ออทิสซึ่ม และโรคจิตหลอน แต่ยังไม่มีการบำบัดความบกพร่องเหล่านี้โดยเฉพาะ
Oxytocin ได้รับความสนใจมากในวงการแพทย์ เพราะมีศักยภาพในการช่วยปรับปรุงความสามารถในการเข้าสังคมได้ดีขึ้นในผู้ป่วยโรคจิตเภท
ผู้สื่อข่าววีโอเอรายงานว่า ผลการวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าการใช้ฮอร์โมน Oxytocin เพียงหนึ่งโดส ช่วยให้คนที่เป็นออทิสซึ่มและโรคจิตหลอนมองหน้าคนที่สนทนาด้วยแทนที่จะเลี่ยงไม่สบตา
คุณ Daniel Quintana นักวิจัยทุนที่โรงพยาบาลออสโล กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสบตากับผู้อื่นขณะคุยกัน เพราะการสบตาขณะสนทนากับผู้อื่นช่วยปรับปรุงความสามารถของคนเราในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคู่สนทนาดีขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่โรงพยาบาลออสโล ให้ผู้ป่วยอาสาสมัครในการวิจัยดูภาพถ่ายใบหน้าของคนเพื่อสังเกตุการณ์ตอบสนองของผู้ป่วย
คุณ Daniel Quintana นักวิจัยทุนที่โรงพยาบาลออสโล กล่าวว่า ใบหน้าของคนบางคนในภาพที่ให้ผู้ป่วยดู เป็นใบหน้าที่เเสดงความโกรธ ในการทดลอง ผู้ป่วยอาสาสมัครต้องระบุระดับความโกรธของคนในภาพว่า โกรธมากหรือโกรธน้อยเเค่ไหน หรือมีความสุขมากแค่ไหน
ผลการทดลองพบว่าผู้ป่วยอาสาสมัครที่ได้รับยา oxytoxin ในปริมาณเล็กน้อยพ่นเข้าทางจมูก มองภาพใบหน้าที่ดูเฉยเมยว่ามีความโกรธน้อย ในขณะที่ผู้ป่วยอาสาสมัครที่ได้รับยาสเปรย์หลอกซึ่งมองภาพเดียวกัน กลับบอกว่าเป็นใบหน้าของคนที่โกรธมาก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)