Your browser doesn’t support HTML5
ชาวพม่าหลายคนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน กำลังทำให้พวกตนนึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวดภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารพม่า
คุณ Phyu Hlaing ชาวพม่าที่อพยพมาอาศัยอยู่ในอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 กล่าวว่าเมื่อตนเห็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตนนึกถึงผู้นำเผด็จการทหารของเมียนม่าร์ และยิ่งใกล้วันเลือกตั้งตนก็ยิ่งกังวลว่า หากผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันผู้นี้จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจทำให้ตนต้องย้ายกลับเมียนม่าร์ก็เป็นได้
คำพูดของชาวพม่าที่กลายมาเป็นพลเมืองอเมริกันผู้นี้แม้จะฟังดูเหมือนพูดเล่น แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนพม่าจำนวนมากในอเมริกาที่มีต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้
ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยชาวพม่าอพยพอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เกือบ 160,000 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เกินครึ่งหนึ่งของประชากรเชื้อสายพม่าทั้งหมดในอเมริกา ที่คาดว่ามีอยู่ราว 300,000 คน
หลายคนที่กลายเป็นพลเมืองอเมริกัน เชื่อว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์ในเมียนม่าร์ด้วย
Your browser doesn’t support HTML5
คุณ Htet Wint นักศึกษาชาวพม่าที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศเมียนม่าร์ หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความรู้เรื่องเมียนม่าร์อย่างแท้จริง
คุณ Wint และชาวอเมริกันเชื้อสายพม่าหลายคน ประกาศตัวสนับสนุนนางฮิลลารี คลินตั้น ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต เพราะเชื่อว่าหากเธอได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประสบการณ์ของเธอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศผู้เคยเดินทางเยือนเมียนม่าร์ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้
อดีต รมต. คลินตั้น เดินทางเยือนเมียนม่าร์เมื่อ 5 ปีก่อน และได้พบปะนางอองซานซูจี รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในการช่วยผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเมียนม่าร์ และช่วยให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนม่าร์
ตัวนางคลินตั้นเองมักจะบอกอยู่เสมอว่า ความก้าวหน้าในเมียนม่าร์คือหนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของเธอในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยในหนังสือบันทึกความทรงจำที่เธอเขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 2014 คลินตั้นได้ระบุถึงการทำงานในฐานะนักการทูตที่เมียนม่าร์ไว้หนึ่งบทเต็มๆ
อย่างไรก็ตาม คุณ Lex Rieffel ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนม่าร์แห่งสถาบัน Brookings กล่าวว่าสถานการณ์ในเมียนม่าร์นั้นค่อนข้างซับซ้อนและละเอียดอ่อน และตนเชื่อว่าใครคนใดคนหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ควรได้รับเครดิตสำหรับความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยของเมียนม่าร์ แต่เครดิตนั้นควรเป็นของประชาชนเมียนม่าร์ รวมทั้งคณะทหารที่ยินยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมือง
คุณ Lex Rieffel ยังบอกด้วยว่าความสำเร็จทางการทูตในเมียนม่าร์ ของอดีต รมต. คลินตั้น คงไม่อยู่ในการจดจำของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เท่าใดนัก
ผลการสำรวจที่จัดทำโดยสถาบันเพื่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายพม่า ในเมือง Indianapolis รัฐ Indiana เมื่อเร็วๆนี้ ชี้ว่าชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะด้านสังคมและศาสนา ซึ่งสืบทอดมาจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของพม่า
ถือเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างสอดคล้องกับอุดมคติของพรรครีพับลิกัน แต่ดูเหมือนเมื่อมาถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์ ความคิดของชาวพม่าในอเมริกาเหล่านั้น กลับแตกต่างออกไป
(ผู้สื่อข่าว William Gallo รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)