ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ปราศรัยครั้งสุดท้ายก่อนผ่องถ่ายอำนาจให้พรรคของนางซูจี

Myanmar's President Thein Sein, right, and speaker of Union Parliament Shwe Mann arrives at the Union Parliament in Naypyitaw, Jan. 28, 2016.

รัฐสภาพม่ามีกำหนดจะเลือกประธานรัฐสภาและตำแหน่งสำคัญต่างๆในวันที่ 1 ก.พ ก่อนที่จะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

Your browser doesn’t support HTML5

Myanmar Transition

ปธน.พม่า เต็ง เส่ง กล่าวยกย่องชัยชนะของพม่าในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมือง และขอให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของพม่า ในการปราศรัยเมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นการปราศรัยครั้งสุดท้ายของ ปธน.เต็ง เส่ง ก่อนที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี จะขึ้นบริหารประเทศแทนในวันที่ 1 ก.พ

ปธน.พม่า เต็ง เส่ง กล่าวต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาพม่าว่า ตนยินดีช่วยเหลือรัฐบาลพม่าชุดใหม่ที่จะนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางออง ซาน ซูจี ในการบริหารประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างราบรื่น และแม้จะมีปัญหาท้าทายมากมายรออยู่ แต่ในที่สุดพม่าจะสามารถผ่านกระบวนการปฏิรูปทางประชาธิปไตยนี้ไปได้ ซึ่งถือเป็นชัยชนะสำหรับประชาชนพม่าทุกคน

ปธน. เต็ง เส่ง จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค หลังจากปกครองพม่ามานาน 5 ปี ถือเป็นรัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดแรกภายหลังยุครัฐบาลทหาร

ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ปธน.เต็ง เส่ง ได้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองของพม่าจำนวนมากให้เป็นอิสระ ให้สิทธิประชาชนในการประท้วงและจัดตั้งสหภาพแรงงาน ลดการควบคุม ตลอดจนพยายามจัดทำข้อตกลงสันติภาพกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดร่างกฎหมายสำคัญๆหลายฉบับ เช่น กฎหมายการปฏิรูปที่ดินและการลงทุนจากต่างชาติ

พม่าภายใต้การนำของ ปธน.เต็ง เส่ง ได้ยกฐานะจากประเทศยากจน กลายเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความสำเร็จของรัฐบาล ปธน.เต็ง เส่ง ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุด คือการจัดการเลือกตั้งอย่างน่าเชื่อถือเมื่อเดือน พ.ย ที่ผ่านมา ซึ่งพรรค NLD หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะถล่มทลาย

ปธน. เต็ง เส่ง กล่าวปราศรัยเมื่อวันพฤหัสบดีว่า สิ่งที่รัฐบาลของตนได้ทำตลอด 5 ปีที่ผ่านมา คือการวางรากฐานให้กับรัฐบาลพม่าชุดต่อไป โดยที่ตนไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าว่าจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐสภา ดูเหมือนกองทัพพม่ายังคงรักษาฐานอำนาจเอาไว้ได้บางส่วน เนื่องจากรัฐธรรมนูญของพม่ากำหนดให้ 1 ใน 4 ของที่นั่งในรัฐสภาต้องกันไว้สำหรับตัวแทนจากกองทัพ

รัฐสภาพม่ามีกำหนดจะเลือกประธานรัฐสภาและตำแหน่งสำคัญต่างๆในวันที่ 1 ก.พ นี้ ก่อนที่จะมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

นางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค NLD ไม่มีสิทธิ์เป็น ปธน. เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยคณะทหาร ระบุว่าบุคคลที่มีคู่ครองหรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ปธน.ได้ ซึ่งนางซูจีเองยืนยันว่า ตนจะไม่เร่งกดดันให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ยินดีทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีเงา

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ยังระบุด้วยว่า เธอจะมอบตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ให้กับพรรค Union Solidarity and Development ซึ่งเป็นพรรคที่มีความเชื่อมโยงกับกองทัพพม่า รวมทั้งให้กับพรรคของชนกลุ่มน้อยที่ถูกกีดกันออกจากการเมืองพม่ามายาวนานด้วย

ซึ่งเชื่อกันว่าอาจรวมถึงการให้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรกับ สส.ที่เป็นผู้แทนชาวคะฉิ่น และตำแหน่งประธานวุฒิสภาให้กับ สว.ที่เป็นผู้แทนของชาวกะเหรี่ยงด้วย

(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากห้องข่าววีโอเอมาเสนอ)