ตัวแทนจากเมียนมาเตรียมเดินทางเยือนค่ายผู้อพยพโรฮีนจาในบังคลาเทศสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาการส่งตัวผู้อพยพกลับเมียนมาในโครงการนำร่องของเมียนมา แม้ทางการบังคลาเทศจะระบุว่าไม่มีความชัดเจนว่าผู้อพยพเหล่านี้จะได้กลับภูมิลำเนาได้เมื่อใด
โมฮัมหมัด มิซานูร์ ราห์มัน เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยในค็อกซ์บาซาร์ของบังคลาเทศ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า มีชาวโรฮีนจา 1,140 คนที่จะต้องได้รับการส่งกลับประเทศผ่านโครงการนำร่องนี้ และ 711 คนในรายชื่อผ่านการพิจารณาแล้ว ส่วนอีก 429 คน ซึ่งมีทารกเกิดใหม่รวมอยู่ด้วยนั้นยังอยู่ในกระบวนการอยู่ และว่า “พวกเราพร้อม” ที่จะส่งพวกเขากลับไป แต่เสริมว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการส่งกลับจะเริ่มต้นได้เมื่อใด
ผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮีนจาเกือบ 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเขตพรมแดนค็อกซ์บาซาร์ในบังคลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่หลบลี้หนีภัยจากการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาในปี 2017
สภาพชีวิตในค่ายผู้อพยพของพวกเขาเต็มไปด้วยอันตราย ชาวโรฮีนจานับหมื่นชีวิตแออัดในกระท่อมที่ทำจากไม้ไผ่และแผ่นพลาสติกบาง ๆ และเพิ่งมีรายงานเหตุเพลิงไหม้ค่ายผู้อพยพในเดือนนี้ที่ทำให้ผู้ลี้ภัย 12,000 ชีวิตต้องไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ การเป็นผู้ลี้ภัยไร้รัฐผลักให้พวกเขาขาดโอกาสทางการศึกษาและการทำงาน อีกทั้งยังมีการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นภายในค่ายผู้อพยพด้วย
รอยเตอร์ติดต่อสอบถามไปยังโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อขอความเห็นเกี่ยวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับในช่วงที่รายงานข่าวนี้
ระหว่างที่จีนเดินหน้าบทบาทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในเรื่องดังกล่าว เหยา เวิ่น เอกอัครราชทูตจีนประจำบังคลาเทศ หวังว่าผู้อพยพโรฮีนจาผู้พลัดถิ่นกลุ่มแรกจะได้รับการส่งกลับเมียนมาเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม มุมมองของ ตัน ขิ่น ประธาน Burmese Rohingya Organization UK เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาที่เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนไปเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะกลับผู้ลี้ภัยโรฮีนจากลับประเทศเท่าใดนัก และว่า “นี่ไม่ใช่กระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่เป็นกระบวนการประชาสัมพันธ์ รัฐบาลต่างต้องการอ้างถึงความก้าวหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วประเด็นหลักเรื่องการปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจาของรัฐบาลทหารเมียนมายังเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามอยู่”
- ที่มา: รอยเตอร์