นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเตือนว่า ปริมาณการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเมียนมาอาจลดลงอย่างมากหลังเกิดการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 สหรัฐฯ และเมียนมาได้เริ่มฟื้นฟูการค้าระหว่างกันภายใต้ข้อตกลงสิ้นสุดมาตรการคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใช้มานานหลายปี
โดยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศมีปริมาณการค้าระหว่างกันที่ระดับ 1,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากสหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาอีกครั้ง คือ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้า
รายงานของสถาบันวิจัย Panjiva ของ S&P Global Market Intelligence ชี้ว่า สินค้าสิ่งทอและรองเท้าจากเมียนมามีสัดส่วนราว 41% ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเมียนมา โดยบริษัทเสื้อผ้า LL Bean, H&M และ Adidas คือบริษัทในอเมริกาที่นำเข้าสินค้าจากเมียนมามากที่สุด
ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ปริมาณการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีงบประมาณ 2019-2020 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสิงคโปร์และฮ่องกง
เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่าจะทบทวนมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา หลังจากที่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารและจับกุมตัวแกนนำรัฐบาลพลเรือนหลายคนเอาไว้ รวมทั้งนางออง ซาน ซู จี