นักวิเคราะห์ด้านเอเชียมองว่า การที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลด้วยข้ออ้างเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง นอกจากจะทำให้การเติบโตของประชาธิปไตยในเมียนมาต้องถอยหลังไปอย่างน้อยราวสิบปีและส่งผลต่อความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว ท่าทีและนโยบายลงโทษจากกลุ่มประเทศตะวันตกอาจมีส่วนผลักดันให้เมียนมาขยับเข้าไปใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากขึ้นได้
กองทัพเมียนมาประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลาหนึ่งปี หลังจากที่ควบคุมตัวนางอองซาน ซู จี และสมาชิกระดับสูงของพรรค NLD ไว้เมื่อเช้าวันจันทร์ จากข้ออ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งขนานใหญ่
และถึงแม้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งจากต่างประเทศและในระดับท้องถิ่นจะชี้ว่ามีการจำกัดสิทธิของผู้เลือกตั้งบางกลุ่ม รวมทั้งการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาอาจไม่เป็นกลางเท่าที่ควร แต่หลายฝ่ายก็เห็นว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้วนี้สะท้อนเจตจำนงค์ของชาวเมียนมาส่วนใหญ่
นายปีเตอร์ มัมฟอร์ด นักวิเคราะห์กิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทที่ปรึกษาเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง Eurasia Group กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ความพยายามปฏิรูปการเมืองของเมียนมาต้องถอยหลังไปอย่างมากทีเดียว
เท่าที่ผ่านมากองทัพเมียนมามีบทบาทฝังแน่นอยู่กับการเมืองของประเทศอย่างแยกไม่ออก และเมื่อปี 2554 หลังจากที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จมานานหลายสิบปี ผู้นำกองทัพได้ยอมปล่อยอำนาจบางส่วนแต่ก็ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ให้หลักประกันอำนาจของตนทั้งยังมีหลักประกันที่นั่งในสภาอีก 25% ซึ่งนับว่ามากพอที่จะขัดขวางความพยายามใด ๆ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
เป็นที่เชื่อกันว่า พลเอกมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาซึ่งจะมีอายุครบกำหนดเกษียณในปีนี้ด้วยวัย 65 ปี ต้องการเป็นประธานาธิบดี แต่นางออง ซาน ซู จี ซึ่งพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ได้แต่งตั้งคนสนิทให้เป็นประธานาธิบดี ซึ่งนายปีเตอร์ มัมฟอร์ด ก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งของการยึดอำนาจครั้งนี้
ส่วนอาจารย์คริสติน่า ฟิงค์ ผู้สอนของมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา ก็มองว่า การล้มกระดานประชาธิปไตยโดยกองทัพเมียนมาครั้งล่าสุดนี้จะสร้างผลเสียหายร้ายแรงทั้งในแง่การเมืองและในทางเศรษฐกิจ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถึงแม้เมียนมาจะมีรัฐบาลกึ่งพลเรือนก็ตาม แต่ชาวเมียนมาก็ได้เริ่มตระหนักเรื่องการมีรัฐบาลที่พยายามแก้ปัญหาของตนอย่างแท้จริง แต่สิทธิเหล่านี้ก็ต้องถูกพรากไปอีกครั้งหนึ่ง
ในส่วนของเศรษฐกิจนั้น อาจารย์คริสติน่าเชื่อว่าบรรดานักท่องเที่ยวและนักลงทุนซึ่งวางแผนจะกลับเข้าไปในเมียนมาหลังจากปัญหาโควิด-19 คลี่คลายลง คงจะเปลี่ยนใจ และว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีมาตรการลงโทษครั้งใหม่หรือไม่ และมาตรการดังกล่าวจะมาจากประเทศใดด้วย
แต่นายปีเตอร์ มัมฟอร์ด นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมองว่า ผลกระทบจากมาตรการลงโทษของประเทศตะวันตกจะสามารถผ่อนบรรเทาได้จากความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะในสมาคมอาเซียนเพราะอาเซียนนั้นมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวแทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
นอกจากนั้น คุณปีเตอร์ มัมฟอร์ด ยังเชื่อว่า จีนจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับผู้ปกครองทหารชุดใหม่ของเมียนมาต่อไป เพราะจีนเคยให้ความสนับสนุนต่อคณะทหารของเมียนมามานานหลายสิบปีแล้ว และเรื่องนี้ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันตราบเท่าที่คณะผู้ปกครองใหม่ของเมียนมาช่วยปกป้องผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาเช่นกัน
ขณะนี้ปักกิ่งได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในเขตระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศกับมหาสมุทรอินเดียผ่านทางเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อเลี่ยงการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาที่อาจจะมีปัญหาขึ้นได้หากจีนมีข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯ
ส่วนอาจารย์คริสติน่า ฟิงค์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ก็เห็นด้วยว่า ถ้ากลุ่มประเทศตะวันตกใช้มาตรการลงโทษเพื่อโดดเดี่ยวเมียนมาแล้ว นโยบายดังกล่าวก็อาจผลักดันเมียนมาให้เข้าใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นได้ เพราะในช่วงหลายปีหลังนี้กองทัพเมียนมามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซียมากขึ้น และซื้ออาวุธหลายชนิดจากรัสเซียเพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้นจึงคาดได้ว่า เมียนมายังคงมีทางเลือกคือทั้งจีนกับรัสเซีย หากมีความพยายามกดดันหรือถูกมาตรการลงโทษจากกลุ่มประเทศตะวันตก