สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (National Unity Government of Myanmar - NUG) หรือ รัฐบาลเงา ที่ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่พ้นจากตำแหน่งหลังการทำรัฐประหาร กล่าวในที่ประชุมอาเซียนว่าจะไม่ร่วมเจรจาจนกว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมด
สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างหาทางออกให้เมียนมาจากวิกฤติการณ์นองเลือดที่ดำเนินมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงและหันมาเจรจา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมรับข้อเสนอหาทางออกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยไม่มีตัวแทนจากทางฝั่งรัฐบาลเงาเข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด
รัฐบาลเงา NUG ที่จัดตั้งขึ้นในเดือนนี้โดยสมาชิกรัฐสภาที่พ้นจากตำแหน่งหลังรัฐประหาร นักการเมืองที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย และผู้นำการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย ระบุว่าอาเซียนควรมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเงามากกว่า ในฐานะรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนโดยชอบธรรม
มาน วิน ข่าย ถั่น นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเงา NUG ระบุในแถลงการณ์ว่า จะต้องมีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งประธานาธิบดีอู วิน มินท์ และนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข ก่อนที่จะมีการหารืออย่างสร้างสรรค์ได้
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนยังไม่มีความเห็นโดยทันทีต่อแถลงการณ์จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา
นายอู วิน มินท์ นางซูจี และบุคคลอื่น ๆ ถูกคุมตัวตั้งแต่การทำรัฐประหาร หลังจากที่รัฐบาลของนางซูจีเตรียมเข้าสู่สมัยที่สองหลังชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือนพฤศจิกายน
กองทัพเมียนมาระบุว่า ต้องมีการยึดอำนาจเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาไม่ยอมรับข้อร้องเรียนจากกองทัพว่ามีการโกงเลือกตั้ง โดยทางคณะกรรมการระบุว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม
มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายเมืองทั่วประเทศนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร โดยทางกองทัพสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 750 คน ตามข้อมูลจากกลุ่มนักกิจกรรม โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้ เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาจำกัดเสรีภาพสื่อและคุมขังนักข่าว
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อาเซียนจัดประชุมที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อกดดันให้มีการยุติวิกฤติการณ์ดังกล่าว โดยไม่ได้เชิญตัวแทนจากฝั่งรัฐบาลพลเรือนเมียนมาให้เข้าร่วมประชุม
ผู้นำชาติอาเซียนระบุหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีฉันทามติร่วมกันห้าข้อ เพื่อยุติความรุนแรงและสนับสนุนการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายในเมียนมา โดยทางฝั่งรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า จะพิจารณาข้อเสนอของอาเซียน “อย่างระมัดระวัง” โดยข้อเสนอดังกล่าวรวมถึง การแต่งตั้งทูตเพื่อเดินทางเยือนเมียนมา “เมื่อสถานการณ์กลับสู่ความมั่นคง” และเมื่อข้อเสนอของอาเซียนขับเคลื่อนแผนของรัฐบาลทหารและตอบสนองผลประโยชน์ของเมียนมาได้
นักกิจกรรมต่างวิจารณ์ข้อสรุปจากทางอาเซียนว่า แผนดังกล่าวช่วยสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร และไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของพวกเขา โดยเฉพาะการที่อาเซียนไม่เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนางซูจีและนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ โดยกลุ่ม Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า มีผู้ต่อต้านการทำรัฐประหารถูกคุมขังกว่า 3,400 คน
ผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติเมียนมา
สำนักข่าวเมียนมา นาว รายงานว่า ผู้ประท้วงเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันพุธ นอกจากนี้ การปะทะระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องอำนาจปกครองตนเอง ยังย่ำแย่ลงหลังมีการรัฐประหาร
มีการต่อสู้ระหว่างกองทัพบกเมียนมาและกองกำลังชาวกะเหรี่ยงที่ชายแดนตะวันออกของเมียนมาติดกับประเทศไทย และกับกองกำลังชาวคะฉิ่นทางตอนเหนือใกล้ชายแดนจีน นอกจากนี้ ยังมีการปะทะกันระหว่างนักกิจกรรมต้านรัฐประหารและกองกำลังความมั่นคงในรัฐชิน ทางชายแดนติดกับอินเดีย
เมื่อวันอังคาร กลุ่มกะเหรี่ยงยึดฐานที่มั่นของกองทัพบกเมียนมาใกล้ชายแดนไทย โดยชาวบ้านจากทางฝั่งไทยระบุว่า กองทัพเมียนมาโจมตีบริเวณดังกล่าวทางอากาศเมื่อวันพุธ แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กลุ่มกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ตามชายแดน สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยต้านรัฐบาลทหารตามเมืองต่าง ๆ ของเมียนมา