ผู้นำและตัวเเทนประเทศสมาชิกอาเซียนแห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกเเถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับเมียนมาจากการประชุมสุดยอดที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
การประชุมครั้งนี้ซึ่งมีสุลต่านฮัสซานนาล โบเกียห์ แห่งบรูไน เป็นประธาน ออกเเถลงการณ์ซึ่งในส่วนท้ายระบุว่า ประเทศสมาชิกเห็นพ้องต้องกันใน 5 เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา
ประการเเรก อาเซียนเรียกร้องให้มีการยุติการใช้ความรุนเเรงและวิงวอนให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ
ประการที่สอง ผู้นำประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกันด้วยว่า ควรมีการเริ่มเจรจาหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศ
ประการที่สาม เจ้าหน้าที่พิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในกระบวนการเจรจาเพื่อให้เกิดทางออกอย่างสันติ
ประการที่สี่ อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
ประการสุดท้าย ตัวเเทนพิเศษของประธานอาเซียนจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
เอกสารฉบับนี้จากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เริ่มต้นในวันเสาร์ ระบุถึงการเห็นพ้องต้องกันของผู้นำทุกประเทศที่ร่วมประชุม ซึ่งรวมถึงพลเอก มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหารรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์
ทางด้านรัฐบาลเงาของเมียนมาซึ่งประกอบด้วยนักการมืองที่ถูกยึดอำนาจ ออกมาแสดงความยินดีต่อแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนที่เรียกร้องให้กองทัพเมียนมายุติความรุนแรงต่อประชาชน
โฆษกขององค์กรรัฐบาลเงาเมียนมาซึ่งใช้ชื่อว่า National Unity Government (NUG) กล่าวว่า แถลงการณ์ของอาเซียนถือเป็นข่าวดี และเราคาดหวังว่าจะมีการกระทำที่แข็งขันจากอาเซียนหลังจากการออกแถลงการณ์นี้ เพื่อนำประชาธิปไตยและเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชนชาวเมียนมาและภูมิภาคนี้
อย่างไรก็ตาม แม้แถลงการณ์ของอาเซียนได้ระบุว่ารับรู้ถึงเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนในเมียนมา แต่กลับไม่มีการเรียกร้องเรื่องการปล่อยตัวนักโทษนี้อย่างเป็นทางการในแถลงการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน นายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวว่า ทางอียูจะกดดันให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนต่อไป
ส่วนนายทอม แอนดรูวส์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติประจำเมียนมา กล่าวว่า ยังต้องจับตามองต่อไปว่าการมีส่วนร่วมของอาเซียนในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถานการณ์ในเมียนมามากน้อยแค่ไหน การเข่นฆ่าประชาชนจะจบลงหรือไม่ และนักโทษการเมืองหลายพันคนจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ อย่างไร
ด้าน Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) รายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ประท้วงและประชาชนเมียนมาถูกสังหารไปแล้วกว่า 740 คน และถูกจับกุมมากกว่า 3,380 คน นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์