รัฐบาลทหารเมียนมาหันซบรัสเซีย หวังมาช่วยคานอิทธิพลจีน

Russia's Defense Minister Sergei Shoigu and Myanmar's Min Aung Hlaing walk past the honor guard prior to their talks in Moscow, June 22, 2021. (Vadim Savitskiy/Ministry of Defense of the Russian Federation/Handout via Reuters)

Your browser doesn’t support HTML5

ทำไมพลเอก มิน อ่อง หล่าย เยือนรัสเซียก่อนจีน?


รายงานข่าวเกี่ยวกับการเดินทางเยือนรัสเซียของผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงด้านยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ในขณะที่ประชาคมโลกยังกดดันให้กองทัพเมียนมาที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอยู่

Myanmar military chief, Min Aung Hlaing, at Moscow

เมื่อเดือนที่แล้ว พลเอง มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมการประชุมใหญ่ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นเวลา 3 วัน โดยยังไม่ได้เดินทางไปจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผู้ทรงอิทธิพลที่มีพรมแดนติดกัน ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เป็นแผนการของกองทัพเมียนมาที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกรุงมอสโก เพื่อหวังให้มาเป็นแรงสนับสนุนเพิ่มเติม และลดการพึ่งพาเพียงรัฐบาลกรุงปักกิ่งเท่านั้น

จีนและรัสเซีย คือพันธมิตรผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของกองทัพเมียนมา หรือ ทัตมาดอว์ นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นาง ออง ซาน ซู จี ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลายมา เพราะขณะที่นานาประเทศประณามรัฐบาลทหารที่ใช้ความรุนแรงเข้าปรามปรามผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน รัฐบาลกรุงปักกิ่งและรัฐบาลกรุงมอสโก กลับใช้สิทธิ์ของตนในการสกัดกั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่ให้กดดัน รัฐบาลทหารเมียนมาให้ยุติการกระทำดังกล่าว นอกจากนั้น ทั้งสองประเทศนี้ยังเป็นผู้จัดส่งเสบียงด้านอาวุธยุทโธปกรณ์หลักๆ ให้กับ ทัตมาดอว์ ด้วย

เมื่อมองลึกลงไปในสายสัมพันธ์กับสองประเทศมหาอำนาจนี้ จะพบว่า จีน ซึ่งสนิทแนบแน่นกับเมียนมามากกว่า เป็นคู่ค่าอันดับต้นๆ และนักลงทุนที่มีความสำคัญมาก และเมียนมาเองยังแสดงจุดยืนที่จะมีส่วนร่วมกับแผนการใหญ่ๆ ของกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะ ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ด้วยการเสนอเส้นทางผ่านประเทศของตนเพื่อเชื่อมต่อโครงการนี้กับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำคัญของภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่แทนที่จะแวะเยือนจีนเป็นจุดหมายแรกนับตั้งแต่ก่อรัฐประหารมา พลเอก มิน อ่อง หล่าย กลับเลือกไปกรุงมอสโก เพื่อร่วมงานประชุมสัมมนา และประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เกย์ ชอยกู และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นิโคไล พาทรูเชฟ

แต่ผู้ที่เฝ้าติดตามความเป็นไปในเมียนมามาโดยตลอด กลับไม่ค่อยรู้สึกแปลกใจกับการตัดสินใจของผู้นำรัฐบาลทหารในครั้งนี้สักเท่าใด

แอนโธนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ของนิตยสาร Janes ซึ่งตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการด้านทหาร ให้ความเห็นว่า แรงหนุนจากกรุงมอสโกมายังรัฐบาลทหารเมียนมานั้นมีความชัดเจนมาโดยตลอด และผู้นำรัฐบาลทหารเองก็ได้รับการยืนยันว่า จะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากมหาอำนาจรายนี้ ทั้งยังจะมีโอกาสได้หารือการขยายความร่วมมือด้านการทหารและเศรษฐกิจระหว่างการไปเยือนด้วย

SEE ALSO: ประชาชนเมียนมาฝ่ากระสุนยางร่วมชุมนุมใหญ่ต่อเนื่องต้านรัฐประหาร

เดวิส กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและจีนนั้นมีความตึงเครียดขึ้นกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลกรุงปักกิ่งไม่พอใจเกี่ยวกับความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลังการก่อรัฐประหาร รวมทั้งการที่ ทัตมาดอว์ เอง มีความเคลือบแคลงเกี่ยวกับเป้าหมายของจีน และการที่จีนให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ต่อต้านกองทัพ

ทั้งนี้ การลักลอบขนสินค้า ธุรกิจการพนัน และการเคลื่อนย้ายอาวุธข้ามพรมแดนระหว่างภาคใต้ของจีนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา กลายมาเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดนและต่อสู้กับ ทัตมาดอว์ เพื่อประกาศอิสรภาพแยกตัวออกมาเป็นเวลานานนับทศวรรษ และเรื่องนี้ก็เป็นหนามยอกอกของรัฐบาลทหารเมียนมามาโดยตลอด จน พลเอก มิน อ่อง หลาย ทนไม่ได้และต้องเอ่ยปากออกมาเมื่อปีที่แล้วว่า “ประเทศต่างชาติประเทศหนึ่ง” กำลังให้การหนุนหลังกลุ่มกบฏบางกลุ่มอยู่

This handout photo from local media group Kantarawaddy Times taken on May 10, 2021, and released on June 4 shows military training conducted by the Karenni National Progressive Party ethnic rebel group in Kayah state, Myanmar..

จีน มิตรที่อาจไม่ใช่เพื่อนแท้

เย เมียว เฮน ผู้บริหารของ Tagaung Institute for Political Studies ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งของเมียนมา กล่าวว่า “แม้ พลเอก มิน อ่อง หล่าย จะไม่ได้ระบุชื่อของประเทศดังกล่าวออกมาก เป็นที่รู้กันโดยอัตโนมัติว่า ผู้นำกองทัพนั้นกำลังพูดถึงจีนอยู่”

เย เมียว เฮน กล่าวเสริมด้วยว่า จีน ในฐานะเพื่อนบ้านพรมแดนติดกันและนักลงทุนรายใหญ่ มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงและปัญหาภาวะเศรษฐกิจดิ่งลงเหวของเมียนมามากว่ารัสเซียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินประเมินว่า จีดีพีของเมียนมาน่าจะหดตัวหนักถึง 20 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ที่การลอบสังหารและการโจมตีด้วยระเบิดซึ่งพุ่งเป้าไปยังผู้บริหารรัฐบาลและพื้นที่หน่วยงานต่างๆ กำลังทำให้ประเทศนี้แตกเป็นเสี่ยงๆ ขณะที่การเผชิญหน้ากันระหว่าง ทัตมาดอว์ และกองกำลังกบฏบางกลุ่มที่ยืดเยื้อมานานก็ยังปะทุขึ้นมาเป็นช่วงๆ อีกด้วย

เย เมียว เฮน กล่าวว่า พลเอก มิน อ่อง หล่าย เลือกไปรัสเซียก่อน เพื่อไม่ต้องการรับแรงกดดันเพิ่มเติมจากกรุงปักกิ่ง ให้รัฐบาลทหารเร่งดำเนินตามแผน 5 ข้อที่อาเซียนนำเสนอ เพื่อช่วยไม่ให้เมียนมาต้องล่มสลายลง และเพราะผู้นำกองทัพเมียนมาก็รู้ดีว่า จีนจะไม่ยอม “เซ็นเช็คเปล่า” มาช่วยรัฐบาลทหารแน่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาผู้นำการก่อรัฐประหารไม่น่าจะพอใจนัก หากเกิดขึ้นจริง

รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ยอมรับข้อเสนอแผนช่วยเหลือ 5 ข้อดังกล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมนัดพิเศษในกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเงื่อนไขว่า กองทัพต้องยุติการใช้ความรุนแรงทุกประเภทและเริ่มการเจรจา “กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีสัญญาณว่า รัฐบาลทหารเมียนมา จะยอมทำตามเงื่อนไขใดๆ ในข้อเสนอนี้เลย

สร้างสมดุลต้านจีน

แอนโธนี เดวิส จากนิตยสาร Janes กล่าวว่า รัสเซียยังเสนอทางเลือกที่มีพลังอำนาจยิ่งใหญ่ให้เมียนมามีโอกาสถ่วงดุลอิทธิพลจีน เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาจีนมากเกินไปดังเช่นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 90

SEE ALSO: จับตาความสัมพันธ์ด้านอาวุธ 'เมียนมา-รัสเซีย' หลังการยึดอำนาจในเมียนมา

ที่ผ่านมา รัสเซีย มีบทบาทเป็นผู้จำหน่ายและจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหลักให้กับเมียนมา ซึ่งต่างจากในอดีตที่ ทัตมาดอว์ จะสั่งซื้ออุปกรณ์ทางทหารต่างๆ จากจีนมากกว่า จนกระทั่งเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่เมียนมาสั่งซื้อจากทั้งสองประเทศในสัดส่วนที่พอๆ กัน ตามข้อมูลของสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute

ข้อมูลชุดนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่า ทัตมาดอว์ เริ่มสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการต่อสู้ทางอากาศจากรัสเซียเป็นหลักแล้ว เนื่องจากคุณภาพที่สูงกว่า และราคาที่น่าซื้อมากกว่า

นอกเหนือจาก ความสัมพันธ์ทางการทหารแล้ว พลเอก มิน อ่อง หล่าย น่าจะเดินทางไปรัสเซียเพื่อหวังส่งเสริมความใกล้ชิดระหว่างทั้งสองให้ขยายไปครอบคลุมด้านอื่นด้วย ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังทรุดหนักและอาจส่งผลให้กับความมั่งคั่งของกองทัพได้ โดยเฉพาะเมื่อนานาประเทศเริ่มดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งสั่งระงับการทำข้อตกลงทางธุรกิจใหม่กับเมียนมาไปแล้ว

รัสเซีย เล็งใช้เมียนมาขยายอิทธิพล

เอียน สตอรีย์ นักวิเคราะห์จากสถาบัน Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า รัสเซียน่าจะต้องการที่จะสยายปีกสร้างอิทธิพลในพื้นที่มหาสมุทรอื่นๆ หลังริเริ่มความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับรัฐบาลกรุงนิวเดลีไปแล้ว แต่เนื่องจากยังขาดท่าเรือที่เป็นพันธมิตรกับตนอยู่มาก และมองว่า เมียนมา คงจะเป็นจุดเชื่อมที่เชื่อใจได้ ที่จะมาช่วยทำหน้าที่จุดพัก สำหรับกองเรือรบแปซิฟิกตะวันตกของตนได้ ในอนาคตอันใกล้นี้

แต่ ยูจีน รูเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย จาก Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่า รัสเซียคงไม่คิดจะขยายกำลังทหารทางทะเล จากการใกล้ชิดกับเมียนมามากขึ้น เพราะมอสโก ยังน่าจะสนใจที่จะสร้างขุมกำลังของตนในน่านน้ำอื่นๆ อยู่ เช่น แถบตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก และแถบตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

รูเมอร์ กล่าวด้วยว่า รัสเซียคงจะตกลงด้านการลงทุนทำธุรกิจเพื่อแลกกับการยกระดับสายสัมพันธ์ทางการทูตกับเมียนมา แต่ไม่น่าจะเสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนทางเศรษฐกิจรายใหญ่ อย่างที่รัฐบาลทหารเมียนมาหวังไว้ ซึ่งเป็นมุมมองที่ตรงกับนักวิเคราะห์หลายรายที่เชื่อว่า จีน ยังคงต้องเป็นที่พักพิงหลักด้านเศรษฐกิจสำหรับเมียนมาต่อไปอยู่ดี