Your browser doesn’t support HTML5
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าประมาณว่า ทุกวันนี้มีช้างป่าหลงเหลือในประเทศเมียนม่าราว 2,000 เชือกเท่านั้น เเละน่าจะมีช้างที่คนจับไปเลี้ยงอีกราว 5,000 เชือก
แต่บรรดานักอนุรักษ์ได้เตือนว่า ช้างป่าเอเชียในเมียนม่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างได้ลดลง เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการลักลอบล่าช้างและอวัยวะของช้าง
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางกระทรวงอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อมแห่งเมียนม่า ได้ตีพิมพ์แผนอนุรักษ์ช้างของเมียนม่า (Myanmar Elephant Conservation Plan) หรือเรียกสั้นๆว่า MECAP แผนนี้ร่างขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับเเนวหน้าหลายหน่วยงานด้วยกัน เพื่อใช้เป็นแนวนโยบายเพื่อปกป้องช้างในเมียนม่า ให้อยู่รอดต่อไปอีก 100 ปีข้างหน้าหรือยาวนานกว่านั้น
แอนโธนี่ ลินนัม (Anthony Lynam) ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กล่าวว่า ทางรัฐบาลเมียนม่าตัดสินใจให้ทุนสนับสนุนการศึกษา เพื่อทบทวนถึงสภาพปัญหาและภัยที่คุกคามต่อความอยู่รอดของช้างในประเทศ
เขากล่าวว่า แผนอนุรักษ์ช้างในเมียนม่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลเมียนม่ามีแผนปฏิบัติการที่เด็ดขาดเเละหนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ความท้าทายในตอนนี้คือทางการพม่าจะประสานงานตามแผนนี้อย่างไรเพื่อให้เกิดความสำเร็จ
แผนอนุรักษ์ช้างของเมียนม่าได้รวมเอาชุดแผนงานระยะต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยแต่ละแผนงานมีระยะการใช้งานนาน 10 ปี เเละยังระบุถึงยุทธศาสตร์โดยรวมที่จะเป็นตัวกำหนดว่า การอนุรักษ์ช้างของเมียนม่าจะมีหน้าตาอย่างไร
ภัยคุกคามสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งต่อการอยู่รอดของช้างในเมียนม่า เกิดจากการลักลอบล้มช้างป่าเพื่อเอาอวัยวะ โดยเฉพาะหนังช้าง
เเม้ว่ารายงานของรัฐบาลเมียนม่าเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของช้างจะโต้แย้งว่า การล่าช้างเป็นภัยคุกคามที่ไม่เป็นปัญหาใหญ่แก่ช้างเอเชีย เพราะช้างพังหรือช้างตัวเมียทุกตัวไม่มีงา เเต่รายงานนี้ก็ได้ยอมรับว่าช้างป่ายังถูกล่าเพื่อเอาอวัยวะอย่างอื่นนอกเหนือจากงาอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเเละหนังของช้าง
คริสตี้ วิลเลี่ยมส์ (Christy Williams) ผู้อำนวยการแห่งกองทุนสัตว์ป่าโลก หรือ World Wildlife Fund ประจำประเทศเมียนม่า กล่าวกับผู้สื่อข่าว วอยส์ ออฟ อเมริกา ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีช้างถูกล้มเพื่อเเล่หนังในเมียนม่าเพิ่มขึ้นอย่างมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เขากล่าวว่าปัญหาการล่าช้างเพื่อเเล่เอาหนังช้าง เคยเกิดขึ้นบางครั้งบางคราวเท่านั้นในอดีต เเต่ในปี ค.ศ. 2016 หรือ 2017 ทางกองทุนสัตว์ป่าโลกเริ่มพบว่ามีช้างหนึ่งตัวต่อสัปดาห์ถูกล่าเพื่อเอาหนังช้าง
วิลเลี่ยมส์ กล่าวว่าในตอนที่ทีมนักวิจัยของกองทุนสัตว์ป่าโลกได้เดินทางไปยังเมืองชายแดนหลายเมืองในปี ค.ศ. 2016 ทีมงานพบว่ามีตลาดชายเเดนเพียงไม่กี่ตลาดที่ขายหนังช้าง เเต่เมื่อทีมงานกลับไปหาข้อมูลอีกครั้งในปีถัดมา ทีมงานวิจัยพบว่าเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของร้านทั้งหมดในตลาดชายเเดนแห่งต่างๆ ขายหนังช้าง
คริสตี้ วิลเลี่ยมส์ ผู้อำนวยการแห่งกองทุนสัตว์ป่าโลกประจำประเทศเมียนม่า กล่าวว่า อุปสรรคหลักอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาการลักลอบค้าอวัยวะช้าง เกิดจากการไร้ความสามารถในการแก้ปัญหานี้เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด เเละมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า ตลาดค้าขายตามแนวชายแดนที่ลักลอบขายอวัยวะช้างไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐบาลเมียนม่าโดยตรง เนื่องจากตั้งอยู่ในเมืองตามเเนวชายแดน
มีข้อเเนะนำในการแก้ปัญหานี้หลายอย่าง รวมทั้ง การปรับปรุงศักยภาพเเละความสามารถของหน่วยงานราชการในพื้นที่ในการจัดการกับปัญหา เช่นเดียวกับการให้การศึกษาแก่ประชาชนว่าการค้าขายอวัยวะช้างผิดกฏหมาย
ทางด้าน มาร์ค กรินลี่ย์ (Mark Grinley) ผู้จัดการโครงการแห่งหน่วยงานอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเเละพืชป่าระหว่างประเทศ (Fauna & Flora International) แห่งประเทศเมียนม่า กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือเกิดความขัดแย้งบ่อยมากขึ้นระหว่างคนกับช้าง โดยเฉพาะที่เกิดจากคนรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างมากขึ้น
เขากล่าวว่า ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างกำลังสูญเสียไปเพราะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นการทำการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการปลูกสวนปาล์มน้ำมัน และการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม ทำให้ชุมชนสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เลี้ยงปากท้อง การบาดเจ็บและเสียชีวิตของทั้งคนเเละช้าง
แผนปกป้องช้างของเมียนม่าได้รวมเอาข้อเสนอเเก้ไขปัญหานี้เอาไว้ด้วย ซึ่งรวมทั้งแผนการจัดการระดับชาติ การสนับสนุนหรือพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น เเละการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้คนในพื้นที่รู้ว่ามีช้างป่าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ระมัดระวังตัว
กรินลี่ย์ กล่าวว่าในขณะที่เมียนม่ากำลังพัฒนาประเทศ ไม่มีทางที่ปัญหานี้จะหมดไป เพราะเมื่อพื้นที่ป่าที่อยู่อาศัยของช้างลดลงอยู่ตลอดเวลา ตนเองเกรงว่าปัญหานี้จะยิ่งเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)