Your browser doesn’t support HTML5
แม้พม่ามีประสบการณ์อย่างมากจากการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนมากขึ้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2554 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน แต่สำหรับในภาคการเกษตรของพม่าแล้ว ความเปลี่ยนแปลงยังเกิดขึ้นน้อยมาก
Sean Turnell นักวิชาการจาก Australia's Macquarie University ในฐานะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการของพรรคเอ็นแอลดี ยอมรับว่า โดยภาพรวมแล้วภาคการเกษตรของพม่ายังไม่ค่อยดีนัก และรัฐบาลชุดใหม่จะเน้นการกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรม เพื่อมุ่งให้เกษตรกรชาวพม่าและประชาชนในชนบทมีชีวิตที่ดีมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเป้าสำคัญของรัฐบาลของพรรค NLD
วิถีชีวิตชาวพม่ากว่าร้อยละ 70 จากจำนวนประชากร 54 ล้านคน ยังคงเกี่ยวข้องกับการเกษตรเป็นหลัก แต่ส่วนใหญ่กลับต้องเผชิญกับปัญหาภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว และจำนวนไม่น้อยที่ประสบความล้มเหลวในระบบเงินกู้ท้องถิ่นที่สร้างรายได้มหาศาลไปสู่นายทุนเงินกู้
ซึ่งที่ปรึกษาของพรรคเอ็นแอลดี ชี้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องปฏิรูปการทำงานของธนาคารเพื่อการเกษตรของพม่า เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับนโยบายการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอีกด้านที่จำเป็นก็คือ การให้ธนาคารกลางของพม่ามีอิสระมากขึ้นในนโยบายด้านการเงิน เพื่อจัดการกับสภาวะเงินเฟ้อของพม่าที่มีอยู่ราวๆ ร้อยละ 13
Peter Brimble ผู้แทนอาวุโส ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB บอกว่า นโยบายการปฏิรูปที่เริ่มดำเนินการโดยรัฐบาลของพลเอก เต็ง เส่ง นั้นแม้จะถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีหลายอย่างให้ท้าทายด้วยเช่นกัน
ผู้แทนจาก ADB บอกว่า มีกุญแจสำคัญที่ท้าทายด้านเศรษฐกิจของพม่าอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
เรื่องแรกก็คือความมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การมีสันติภาพและความมั่นคง
เรื่องที่สองคือการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการบริการรวมทั้งพลังงาน
ข้อสุดท้ายคือความท้าทายด้านการศึกษา และการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของประชาชนและภาคเอกชนเพื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีสถาบันด้านการเงินนานาชาติหลายหน่วยงานเตรียมแผนการพัฒนาเพื่อเสนอความช่วยเหลือให้กับรัฐบาลชุดใหม่ของพม่าไว้แล้วใน 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะที่ Phil Robertson ผู้ช่วยผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์การด้านสิทธิมนุษยชน Human Right Watch ชี้ว่าปัญหาสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่จากพรรค NLD ของพม่าอาจจะต้องเผชิญก็คือความจริงที่ว่าภาคธุรกิจส่วนใหญ่ของพม่ายังคงอยู่ในการควบคุมของกลุ่มธุรกิจในกองทัพหรือผู้ใกล้ชิดที่ครองอำนาจมายาวนาน
โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ Union Myanmar Economics Holdings ที่เข้าไปลงทุนในภาคธุรกิจสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพม่า เช่น ธุรกิจเบียร์ เหมืองพลอย อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านการขนส่ง ซึ่งยังคงถูกมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ อเมริกาอยู่เช่นกัน
ผู้ช่วยผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย Human Right Watch กล่าวเตือนว่า นักธุรกิจต่างชาติจำเป็นต้องตระหนักด้วยว่ากำลังทำธุรกิจกับใคร และธุรกิจนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการกว้านซื้อที่ดินที่มีปัญหาทั่วพม่า ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการหาทางออกให้มีปฏิรูปการเข้าถือครองที่ดินในพม่าโดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าการมุ่งเน้นให้ความสำคัญต่อการเติบโตของภาคเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบทให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในแถบชนบทในพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกทางหนึ่ง