Your browser doesn’t support HTML5
ผลการสำรวจสำมะโนประชากรของพม่าที่จัดทำขึ้นในปีพ.ศ. 2557 ชี้ว่า 24% ของเด็กอายุระหว่าง 10-17 ปีในพม่าต้องทำงาน และรัฐบาลพม่าออกมายอมรับว่าว่ามีเด็กพม่าอย่างน้อยครึ่งล้านคนที่ต้องทำงานและไม่ได้เรียนหนังสือ
แต่บรรดานักรณรงค์เชื่อว่าตัวเลขเเรงงานเด็กในพม่าจริงๆ สูงกว่าตัวเลขของรัฐบาลมาก
ทางสำนักงานเเรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization) หรือ ILO ได้ร่วมมือกับรัฐบาลพม่า บรรดานายจ้างและสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาแรงงานเด็กในพม่า
คุณ Selim Benaissa หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาด้านการวางแผนและการปฏิบัติงานของ ILO ที่รับผิดชอบในโครงการนี้กล่าวว่า การบังคับใช้กฏหมายที่กำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานเด็กที่เรื้อรังในพม่าได้
ความยากจน ความขัดแย้งทางอาวุธภายในประเทศ และการขาดการบริการทางสังคมจากรัฐบาล ทำให้เด็กชาวพม่าต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ครอบครัวยากจนในพม่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องให้ลูกไปทำงานตั้งเเต่ยังเล็ก ปัญหานี้พบทั่วไปในเขตชนบททั่วประเทศพม่า
เขากล่าวว่าการบุกเข้าไปในที่ทำงานแล้วไล่แรงงานเด็กหรือเยาวชนออกจากงานทั้งหมดไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมในระยะยาว เพราะปัญหาที่จะตามมาจากมาตรการข้างต้นซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศอื่นๆ ก็คือแรงงานเด็กจะหันไปแอบทำงานอย่างผิดกฏหมายแทน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ILO กล่าวว่า แรงงานเด็กจะเสี่ยงมากขึ้นที่จะตกเป็นเหยื่อของการใช้เเรงงานเด็กอย่างผิดกฏหมายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณีเด็กหรือการทำงานที่เสี่ยงต่ออันตราย
เขากล่าวว่าปัญหาเเรงงานเด็กเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่รุนแรงกว่าหลายประเด็นด้วยกัน และต้องมีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งหน่วยงานรัฐบาล เขาชี้ว่าปัญหาแรงงานเด็กเกี่ยวข้องกับการขาดแคลนการเข้าถึงระบบการศึกษาของเด็กๆ ในหลายพื้นที่ ปัญหาการรบราต่อสู้กันในหลายๆ ส่วนของพม่า การย้ายถิ่นภายในประเทศและความยากจนที่กระทบต่อครอบครัว
บรรดาคนที่ว่าจ้างแรงงานเด็ก ยืนยันว่าตนเองช่วยเหลือแรงงานเด็กและครอบครัว ซึ่งรัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมแก่คนเหล่านี้
นาย Maung Thant เจ้าของโรงงานผลิตสบู่ที่ว่าจ้างงานเด็กชายและเเรงงานอายุน้อยกล่าวอ้างว่าตนเองไม่ได้เอาเปรียบเด็ก เขาบอกว่าตนเองใช้เเรงงานเด็กเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเด็กๆ เอง เขาบอกว่าเด็กพม่าที่ยากจนมีทางเลือกในชีวิตน้อย
เขากล่าวว่าหากเด็กๆ เหล่านี้ไม่ทำงานในโรงงานแห่งนี้ ก็จะกลายเป็นเด็กเตร็ดเตร่ตามท้องถนนและเก็บขยะ หากเขาไม่ให้โอกาสเด็กเหล่านี้ฝึกฝนความสามารถทางอาชีพในโรงงาน พอโตขึ้นเด็กๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นนักเลงก่อปัญหาตามท้องถนน
นอกจากนี้ เขายังยืนยันด้วยว่าลูกจ้างของตนไม่ได้ไปโรงเรียนมานานแล้ว และยากที่จะกลับเข้าไปเรียนหนังสือใหม่ เขาคิดว่าเเรงงานเด็กเหล่านี้จะได้ประโยชน์มากกว่าจากการฝึกหัดความสามารถทางการอาชีพในโรงงาน และเมื่อเด็กๆ เหล่านี้มีความรู้ด้านการอาชีพ โตขึ้นก็จะหางานดีๆ ทำได้
ร้านชาในพม่าเป็นตัวอย่างของปัญหาที่เห็นชัดมากที่สุดเพราะว่าจ้างแรงงานเด็กจากชนบทเข้าทำงานเต็มเวลา แรงงานเด็กกินอยู่ในร้านชาและส่งเงินค่าจ้างน้อยนิดที่ได้ไปจุนเจือครอบครัว
คุณ Tim Aye-Hardy ก่อตั้งโครงการ MyME หลังจากเดินทางกลับไปยังพม่าจากสหรัฐฯ ในปีพ.ศ. 2555 หลังจากพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงการนี้ดัดแปลงรถบัสหลายคันเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ และสอนหนังสือแก่แรงงานเด็กจากร้านชาในช่วงที่เด็กๆ หยุดพักจากงาน
โครงการห้องเรียนเคลื่อนที่บนรถบัสนี้ สอนหนังสือเเก่เเรงงานเด็กมากกว่า 850 คนเเล้วแต่คุณ Tim Aye-Hardy กล่าวว่าปัญหาต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของแรงงานเด็กในพม่าเป็นปัญหาที่แก้ยาก
เขากล่าวว่าสำหรับพ่อแม่ มีความจำเป็นที่ต้องอยู่รอดไปวันๆ และการเรียนหนังสือจึงเป็นเรื่องรองลงมา ค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่มากับการเล่าเรียนไม่ว่าจะเป็นค่าหนังสือกับค่าชุดนักเรียนก็เป็นอุปสรรคสำคัญ และเมื่อเด็กๆ เข้าไปเล่าเรียนในห้องเรียนแล้ว ระดับคุณภาพการศึกษาที่เด็กๆ ได้รับก็ด้อย
เขากล่าวว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วประเทศพม่า และหากยังไม่มีการปฏิรูประบบการศึกษา จะมีเด็กชาวพม่าเลิกเรียนหนังสือกันมากขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)