Your browser doesn’t support HTML5
หลังการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ที่กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เมษายน ท่าทีที่คลุมเครือของรัฐบาลทหารเมียนมาเกี่ยวกับข้อเสนอห้าข้อของอาเซียนเพื่อช่วยนำเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมา ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของผู้นำทหารเมียนมาในการเจรจาหารือกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
โดยในที่ประชุมสุดยอดวาระพิเศษของผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซีย ซึ่งมีพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น บรูไนในฐานะประธานอาเซียนปีนี้มีคำแถลงว่า ผู้นำอาเซียนได้บรรลุฉันทามติห้าข้อเพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนสู่เมียนมา โดยข้อตกลงที่ว่านี้รวมถึงเรื่องการยุติความรุนแรงโดยทันทีและการหารือระหว่าง "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลทหารของเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ของตนเองซึ่งระบุว่า ข้อตกลงห้าข้อดังกล่าวเป็นเพียงคำเสนอแนะซึ่งเมียนมาจะนำมาพิจารณาเมื่อประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้วเท่านั้น เนื่องจากปัญหาสำคัญเร่งด่วนขณะนี้คือ การรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย
แถลงการณ์ดังกล่าวยังชี้ด้วยว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาได้พิจารณาว่าคณะกรรมการหรือองค์กรใด ๆ ซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเงาของเมียนมานั้น เป็นกลุ่มก่อการร้าย
SEE ALSO: ที่ประชุมสุดยอด 'อาเซียน' บรรลุข้อตกลง 5 ข้อเกี่ยวกับเมียนมาท่าทีในลักษณะที่มีเงื่อนไขโดยรัฐบาลทหารของเมียนมานี้ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองในระดับภูมิภาค อย่างเช่น คุณ Moe Thuzar จากสถาบัน Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ เชื่อว่า เป็นการสวนทางกับแก่นสารและความตั้งใจในข้อตกลงห้าข้อของผู้นำอาเซียนที่กรุงจาการ์ต้า รวมทั้งยังเป็นเครื่องบ่งชี้เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองที่จะยุ่งยากและมีปัญหาสำหรับเมียนมาด้วย
ในการประชุมวาระพิเศษของผู้นำอาเซียนดังกล่าว บรูไนในฐานะประธานอาเซียนยังกล่าวด้วยว่า สมาคมอาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา และบรูไนจะแต่งตั้งตัวแทนพิเศษเพื่อเป็นคนกลางช่วยประสานการเจรจาหารือ โดยตัวแทนพิเศษที่ว่านี้จะไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างไรก็ตาม คำแถลงจากประธานอาเซียนไม่ได้ระบุเงื่อนเวลาหรือรายละเอียดว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรืออย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้นักวิเคราะห์รายอื่น เช่น คุณ Herve Lemahieu แห่งสถาบัน Lowy Institute ในออสเตรเลีย มองว่าเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาสให้เมียนมาใช้ความคลุมเครือให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด คือเพื่อหน่วงเวลาออกไปถึงแม้จะไม่ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้โดยสิ้นเชิงก็ตาม ในขณะที่พยายามผลักดันแผนการณ์ของตนเองให้เข้ามาแทนที่
SEE ALSO: กองทัพเมียนมาประกาศให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเป็น “องค์กรก่อการร้าย”
ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งตามความเห็นของคุณ Herve Lemahieu แห่งสถาบัน Lowy Institute คือคำจำกัดความของคำว่า "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” เนื่องจากคำแถลงจากบรูไนในฐานะประธานอาเซียนไม่ได้ระบุขอบเขตของคำนี้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงยังเป็นที่สงสัยว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะตีความถ้อยคำดังกล่าวให้รวมถึงพรรค NLD ที่ถูกโค่นอำนาจไป และรัฐบาลเงาของเมียนม่าที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น รวมทั้งพรรคการเมืองและกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ด้วยหรือไม่
ส่วนคุณ Min Zaw Oo ผู้อำนวยการสถาบัน Myanmar Institute for Peace and Security ก็ชี้ว่า ความไม่ชัดเจนว่าใครคือผู้มีส่วนได้เสีย หรือ stakeholders ตามคำแถลงของประธานอาเซียน รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังไม่พร้อมจะยอมรับอย่างเต็มที่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะนำฉันทามติห้าข้อจากที่ประชุมวาระพิเศษของผู้นำอาเซียนไปปฏิบัติให้เป็นผล
โดยนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของเมียนมาผู้นี้ยังเชื่อด้วยว่า คงจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญจากสิ่งที่คณะผู้นำทหารของเมียนมาพยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็คือการเลือกตั้งใหม่ภายในสองปี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งใหม่ และว่า การตัดสินใจหรือข้อเสนอแนะของสมาคมอาเซียนนั้นคงจะไม่มีผลอย่างสำคัญต่อแผนที่นำทางทางการเมืองซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาได้ปักธงไว้แล้วในขณะนี้ด้วย