สมาชิกพรรคอองซานซูจี เสียชีวิตหลังถูกควบคุมตัว-ออสเตรเลียประกาศมาตรการลงโทษกองทัพเมียนมา

Myanmar

สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี เสียชีวิตอีกราย หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและควบคุมตัว ขณะที่การประท้วงในเมียนยังเดินหน้าต่อเนื่อง และรัฐบาลออสเตรเลียดำเนินมาตรการลงโทษกองทัพเมียนมา เพื่อตอบโต้การก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

รายงานข่าวจากสำนักข่าว Voice of Myanmar และสื่อหลายสำนักเปิดเผยว่า จอ เมียท ลิน คือ สมาชิกพรรค NLD อีกรายที่เสียชีวิตขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเมียนมา โดย บา เมียว เทียน อดีตวุฒิสมาชิกเมียนมา บอกกับผู้สื่อข่าวว่า จอ เมียท ลิน เป็นผู้หนึ่งที่ “เข้าร่วมการประท้วงอย่างต่อเนื่อง”

รายงานข่าวระบุว่า ครอบครัวของ จอ เมียท ลิน ได้รับแจ้งให้ไปรับศพในวันอังคาร แต่ไม่ได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ ขิ่น หม่อง แลต เป็นสมาชิกพรรค NLD รายแรกที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ หลังโดนจับกุมตัวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ในส่วนของสถานการณ์การชุมนุมประท้วงนั้น มีรายงานข่าวว่า กลุ่มประท้วงราว 200 คนในนครย่างกุ้งเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าด้านความมั่นคงตั้งแต่ช่วงค่ำของวันจันทร์ ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงโดยไม่มีเหตุรุนแรง ในช่วงเช้าวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น

ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาหนุ่มสาวถูกต้อนเข้าไปหลบซ่อนตามอาคารบ้านเรือนพื้นที่เขตซานชวง ในนครย่างกุ้ง หลังพยายามหลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ที่ยิงปืนและขว้างระเบิดใส่

และขณะที่เจ้าหน้าที่เมียนมาขู่ที่จะบุกค้นอย่างละเอียดเพื่อจัดการกับผู้ประท้วงกลุ่มนี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวได้แพร่กระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้คนนับพันออกมารวมตัวกันบนท้องถนน โดยไม่สนใจคำสั่งเคอร์ฟิว และเรียกร้องให้ฝ่ายความมั่นคงยุติการรุกปราบปรามผู้ประท้วงหนุ่มสาวทั้งหมด

หลังข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์นี้แพร่ออกไปนอกประเทศ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเทอเรซ และสถานทูตต่างๆ ในเมียนมา ทั้งของสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรป ออกมาเรียกร้องให้ หน่วยงานความมั่นคงของเมียนมา หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและปล่อยให้ผู้ประท้วงกลับคืนสู่ครอบครัวของแต่ละคนอย่างปลอดภัย โดยไม่มีการจับกุม

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประท้วงหนุ่มสาวส่วนใหญ่สามารถเดินทางกลับบ้านเมื่อก่อนรุ่งสางของวันอังคาร หลังเจ้าหน้าที่ดูแลความมั่นคงถอนกำลังออกไป แต่มีรายงานข่าวว่า มีประชาชนราว 25-30 คนถูกจับกุมตัวไปแล้ว ในช่วงค่ำคืนก่อนหน้า

Australia's Foreign Minister Marise Payne

ขณะเดียวกัน ออสเตรเลียแสดงความกังวลอย่างมากต่อการกดขี่ปราบปรามผู้ประท้วงโดยกองทัพทหารเมียนมา และได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง “ยังยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยงที่จะทำการรุนแรงใดๆ ต่อพลเรือน” ด้วย

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการเดินขบวนต่อต้านรัฐประหารมา มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 50 ราย

มารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียได้ทบทวนรายละเอียดของโครงการความร่วมมือด้านกลาโหมระดับทวิภาคีที่ทำไว้อย่างจำกัดแล้ว ก่อนจะตัดสินใจระงับโครงการนั้นไว้ก่อน พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำส่งความช่วยเหลือและการสนับสนุนในส่วนแผนพัฒนาต่างๆ โดยตรงไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงและยากจนที่สุดในเมียนมา ที่มีความจำเป็นด้านนี้เท่านั้น

รมต.ต่างประเทศออสเตรเลีย ยืนยันว่า การตัดสินใจดังกล่าวมีออกมาหลัง “ได้ปรึกษาอย่างละเอียดกับหุ้นส่วนในประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่นและอินเดีย แล้ว”