รัฐบาลทหารเมียนมา พยายามเคลื่อนย้ายเงินฝากมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ออกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก หลังจากทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถสั่งอายัดบัญชีไว้ได้ทัน
รายงานข่าวของ รอยเตอร์ส ที่อ้างแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดระบุว่า ความพยายามถอนเงินของรัฐบาลทหารเมียนมานั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ โดยธนาคารกลางแห่งเมียนมา แต่ถูกระบบป้องกันของธนาคารกลางสหรัฐฯ สกัดเอาไว้ ก่อนที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลจะถ่วงการอนุมัติเอาไว้จนกระทั่ง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกคำสั่งฝ่ายบริหารที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ระงับธุรกรรมดังกล่าวโดยไม่มีกำหนด
รายงานเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาครั้งนี้ไม่ได้เป็นข่าวก่อนหน้านี้ จนกระทั่ง กองทัพเมียนมาแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ หลังสั่งคุมขังเจ้าหน้าที่ที่ให้การสนับสนุนการปฏิรูปคุมขังในช่วงการก่อรัฐประหาร โดยแผนการเคลื่อนย้ายเงินครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะจำกัดผลกระทบของมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศ หลังกองทัพจับกุม นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัย ที่นำพรรคชนะการเมืองตั้งอย่างถล่มทะลายเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว แต่ทหารเมียนมาอ้างว่า การเลือกตั้งนั้นมีการทุจริต แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะปฏิเสธคำกล่าวอ้างนั้นแล้วก็ตาม
รอยเตอร์ส ระบุว่า โฆษกของรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ยอมให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และยังไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางเมียนมาได้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป และอังกฤษ ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเจ้าหน้าที่กองทัพเมียนมาจำนวนหนึ่งไปแล้ว หลังการก่อรัฐประหารและการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบราย โดยองค์การสหประชาชาติประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า มีผู้เสียชีวิตในเมียนมาไปแล้วไม่น้อยกว่า 54 ราย และมีผู้ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 1,700 ราย ซึ่งรวมถึง ผู้สื่อข่าวจำนวน 29 รายด้วย
ในคำสั่งฝ่ายบริหารที่มีออกมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ปธน.ไบเดน ประกาศว่า สหรัฐฯ กำลังดำเนินการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้นายพลกองทัพเมียนมาทั้งหลาย “เข้าถึง” เงินกองทุนรัฐบาลเมียนมามูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ “อย่างไม่เหมาะสม”
และแม้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับแถลงการณ์ล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯ คำสั่งฝ่ายบริหารที่มีการเผยแพร่ออกมา ระบุชัดเจนว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมานั้นคือส่วนหนึ่งของรัฐบาลเมียนมาชุดปัจจุบัน ทั้งยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ อายัดทรัพย์สินทุกชิ้นของรัฐบาลเมียนมาหลังการก่อรัฐประหารด้วย
โดยปกติ หน่วยงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ที่เรียกว่าฝ่ายบริการธนาคารกลางและบัญชีระหว่างประเทศ (Central Bank and International Account Services – CBIAS) เป็นผู้ดูแลจัดการเงินทุนสำรองของเมียนมา เช่นเดียวกับกรณีของธนาคารของประเทศต่างๆ หลายแห่ง ที่เก็บสำรองเงินสกุลดอลลาร์เอาไว้เพื่อการชำระเงินต่างๆ
แหล่งข่าวรายหนึ่งบอกกับ รอยเตอร์ส ว่า เหตุผลที่คำขอเคลื่อนย้ายเงินของรัฐบาลกองทัพเมียนมาถูกสกัดไว้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์นั้น เป็นเพราะธุรกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษก่อนหน้าเหตุรัฐประหาร หลังจากเมื่อปีที่แล้ว เมียนมาถูกจัดให้อยู่ใน “รายชื่อสีเทา” ของ Financial Action Task Force (FATF) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศดูแลการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยในกรณีของเมียนมานั้นเป็นประเด็นความเสี่ยงการเกิดการฟอกเงินจากขบวนการค้ายาเสพติด
ตามคู่มือปฏิบัติงานของ CBIAS นั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการใดๆ ก็ตามที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเจ้าของบัญชี และ “ในกรณีที่เหมาะสม” ฝ่ายกฎหมายของธนาคาร “จะทำการสื่อสารกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อหาความกระจ่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจมีผลต่อธนาคารกลาง (ของประเทศนั้นๆ) และการควบคุมบัญชีที่เปิดไว้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ได้”
แม้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ รอยเตอร์ส ระบุว่า บรรดานายพลกองทัพเมียนมานั้น น่าจะเป็นผู้มีอำนาจควบคุมธนาคารกลางของประเทศอย่างเต็มที่ในช่วงที่มีการยื่นเรื่องขอถอนเงินแล้ว
หลังการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งควบคุมเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจคนสำคัญๆ หลายคน ซึ่งรวมถึง โบ โบ เง รองผู้ว่าการธนาคารกลางสายปฏิรูป และพันธมิตรรายหนึ่งของ นางอองซานซูจี ตามรายงานของ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners)