เมื่อวันพุธ องค์กรเฝ้าระวังเสรีภาพสื่อ Committee to Protect Journalists หรือ CPJ ระบุว่า มีผู้สื่อข่าวถูกจองจำในเมียนมาขณะนี้อย่างน้อย 32 คน ทำให้เมียนมากลายเป็นหนึ่งในประเทศที่จองจำผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลกในช่วงเวลาเพียงหกเดือน
รายงานพิเศษของ CPJ ระบุว่า การที่สื่อตกเป็นเป้านับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทำให้สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกในเมียนมา “เปลี่ยนทิศอย่างรุนแรง” หลังจากเมียนมาเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นนับตั้งแต่การปกครองระบอบทหารครั้งก่อนหน้านี้สิ้นสุดลง
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า นับตั้งแต่มีการรัฐประหารและการควบคุมตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพลเรือนของเมียนมา ชาวเมียนมากว่า 900 คนถูกสังหาร และอีก 5,400 คนถูกจับกุม ตั้งข้อหา หรือจองจำ ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวหลายสิบคน
ทางการเมียนมายังตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตเป็นระยะ ถอนใบอนุญาตประกอบการสื่อ และออกหมายเรียกผู้สื่อข่าว โดย CPJ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวทำให้ผู้สื่อข่าวต้องทำงานแบบลับ ๆ หรือลี้ภัยไปยังต่างประเทศ
ชอวน์ คริสปิน ตัวแทนอาวุโสภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CPJ ระบุว่า นับจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 32 คนถูกจองจำเนื่องจากข้อหาที่เกี่ยวกับข่าวเท็จ หรือแม้จะไม่ถูกตั้งข้อหาใด ๆ เลยก็ตาม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เขาระบุว่า “ย่ำแย่กว่าในจีนและตุรกี”
ผลสำรวจประจำปีของ CPJ ระบุว่า จีนและตุรกีมักจะมีจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจองจำมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คริสปินระบุว่า ขณะนี้เมียนมามีจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกคุมขังมากพอ ๆ กัน ทั้งที่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มีผู้สื่อข่าวถูกจองจำในเมียนมาเพียงหนึ่งคนเท่านั้น
CPJ บันทึกว่า มีผู้สื่อข่าวถูกจองจำในเมียนมามากที่สุดในเดือนมิถุนายน โดยขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวถูกจองจำอย่างน้อย 45 คน ก่อนที่บางส่วนจะถูกปล่อยตัวออกมา แต่มีรายงานว่า ผู้ที่ยังถูกจองจำต้องเผชิญกับการถูกทรมานและสภาพเบียดเสียดในเรือนจำ
CPJ ยังระบุด้วยว่า จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจองจำที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากสำนักข่าวหลายแห่งไม่เต็มใจระบุตัวผู้สื่อข่าวของตนเอง เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับตามอง
วิกฤติด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้สื่อข่าว
คริสปินเห็นว่า รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการกำจัดเสรีภาพสื่อ และสถานการณ์ปัจจุบันเป็น “วิกฤติด้านมนุษยธรรมสำหรับผู้สื่อข่าว”
สื่อท้องถิ่นเมียนมาต้องทนกับการถูกกดดันจากรัฐ ในขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศเผชิญกับข้อจำกัด โดยมีผู้สื่อข่าวต่างชาติในเมียนมาอย่างน้อยสี่คนถูกจองจำ โดยต่อมา เมียนมาปล่อยผู้สื่อข่าวสามคน ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน โปแลนด์ และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม แดนนี เฟนสเตอร์ บรรณาธิการบริหารชาวอเมริกันของสื่อท้องถิ่นภาษาอังกฤษ Frontier Myanmar ถูกจองจำที่คุกอินเส่งมากว่า 65 วันแล้ว
เฟนสเตอร์กล่าวกับทนายของเขาว่า เขาติดเชื้อโคโรนาไวรัสแต่ไม่ได้รับการรักษาทางการแพทย์ การพิจารณาคดีในวันพุธถูกเลื่อนออกไป และครอบครัวของเขาติดต่อเขาหรือรับรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเขาได้อย่างจำกัด
เฟนสเตอร์ทำงานในเมียนมามาแล้วสองปี เขาถูกจับกุมที่สนามบินในนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ขณะกำลังเตรียมเดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัว
เมื่อวันอังคาร ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า การที่กองทัพเมียนมาไม่เคารพสิทธิ เป็นเรื่องที่ “รับไม่ได้” และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง
สถิติอันน่าตกใจ
ทั้งนี้ เสรีภาพสื่อในยุครัฐบาลเลือกตั้งของนางซู จี ก็มีข้อบกพร่อง ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์สองคนที่รายงานถึงความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮินจา ถุกจำคุกกว่า 500 วัน
อย่างไรก็ตาม คริสปินระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาชุดปัจจุบันใช้กฎหมายเกี่ยวกับข่าวเท็จพุ่งเป้าไปที่ผู้สื่อข่าวมากขึ้น โดยตั้งเป้า “ปิดข่าว” เกี่ยวกับการสลายการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรง
เขาระบุว่า สื่อหลายสำนักที่เคยรายงานข่าวได้อย่างอิสระในยุครัฐบาลนางซู จี ขณะนี้ต้องปิดสำนักงานและทำงานแบบลับ ๆ โดยสื่อจำนวนมากรายงานจากที่หลบภัย หรือรายงานขณะที่หลบหนีการจับกุมอยู่
นายนาธาน หม่อง ผู้สื่อข่าวอเมริกันที่เคยถูกจองจำในเมียนมา บอกกับวีโอเอว่า ทีมงานของที่สำนักข่าว Kamayut Media รับรู้ดีว่า ภัยอันตรายอาจมาเยือนพวกเขาได้ทุกเมื่อ
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ทหารติดอาวุธราว 40 นายบุกเข้าสำนักข่าวและจับกุมนายหม่องและเพื่อนร่วมงานของเขา โดยผู้สื่อข่าวอเมริกันผู้นี้ระบุว่า เขาถูกสอบสวนในช่วงสี่วันแรก และไม่ให้น้ำเขาเป็นเวลาสามวัน เขาถูกใส่กุญแจมือและปิดตา โดยในช่วงวันแรก ๆ ที่เขาถูกทรมาน เขาคิดว่าเขาอาจถูกสังหารเมื่อไหร่ก็ได้
CPJ ระบุว่า ฮานธาร์ นีเยียน เพื่อนร่วมงานของนายหม่อง ถูกบังคับให้คุกเข่าบนแท่งน้ำแข็ง ถูกบุหรี่จี้ และถูกขู่ว่าจะถูกข่มขืน เพื่อบังคับให้เขาบอกรหัสผ่านสมาร์ทโฟนของเขา
เจ้าหน้าที่เรือนจำทราบในเวลาต่อมาว่า นอยหม่องเป็นชาวอเมริกัน เขาถูกปล่อยตัวหลังถูกคุมขัง 98 วัน ในขณะที่นายนีเยียน ยังถูกจองจำอยู่
สภากองทัพเมียนมาไม่ตอบคำถามของวีโอเอถึงการดูแลผู้ต้องขัง แต่โฆษกกล่าวว่า การสอบสวนผู้ต้องสงสัย “เป็นไปตามกฎระเบียบ”
ผู้สื่อข่าวพลเมืองเสี่ยงที่จะถูกจับกุมหรือถูกยิงระหว่างการรายงานข่าวในพื้นที่ ผู้สื่อข่าวจำนวนมากหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย อินเดีย ผู้สื่อข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อและที่อยู่รายหนึ่ง ระบุว่า ถึงแม้เขาจะลี้ภัยออกนอกเมียนมา แต่ก็ไม่ต้องการอยู่นอกประเทศตลอดไป พวกเขาเข้าประเทศอื่นอย่างผิดกฎหมายและอาจถูกจับและส่งตัวกลับเมียนมาได้ พวกเขาจึงต้องพยายามอยู่อย่างเงียบเชียบ
คริสปินเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านเมียนมามอบสถานที่หลบภัยให้นักข่าวเหล่านี้ เพื่อให้พวกเขารายงานข่าวได้อย่างปลอดภัยขึ้น