ธนาคารโลกเปิดเผยการคาดการณ์ในวันจันทร์ว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวลง 18% ในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และความวุ่นวายทางการเมืองหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้ประชาชนหลายล้านคนเข้าสู่ภาวะยากจน ตกงาน หรืออดอยากหิวโหย
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมียนมาก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วหลังจากที่กองทัพเริ่มผ่อนคลายอำนาจทางการเมือง และรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ขึ้นปกครองประเทศ
แต่ฝ่ายติดตามเศรษฐกิจเมียนมาของธนาคารโลก ระบุว่า "การรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. และการระบาดระลอกที่สามของโควิด-19 ในเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงที่เกิดการระบาดก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว"
"ด้วยเหตุนี้ จึงคาดการณ์ว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของเมียนมาจะลดลงราว 18% ในปีงบประมาณ 2021 (สิ้นสุดในเดือน ก.ย.)" ธนาคารโลกกล่าว พร้อมกับเตือนด้วยว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัวลง 1 ใน 3 ของจีดีพีเมื่อปี ค.ศ. 2019
ตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจ นักลงทุนต่างชาติจำนวนมากต่างถอนตัวออกจากเมียนมาเพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมือง ประกอบกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากประชาคมโลก และการระบาดของโควิดที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความรุนแรงมากที่สุดประเทศหนึ่ง
ธนาคารโลกคาดว่า อาจมีชาวเมียนมาตกงานราว 1 ล้านคน หรือราว 4-5% ของการจ้างงานทั้งหมดเมื่อปี 2019 นอกจากนี้คาดว่าแรงงานจำนวนมากจะมีรายได้ลดลงเนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่น้อยลง
การรยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. ยังส่งผลให้ธนาคารและภาคธุรกิจต่าง ๆ ขาดแคลนเงินสด ความต้องการสินค้าลดลงต่อเนื่อง ตลอดจนการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตเพื่อควบคุมการประท้วงซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าขายออนไลน์เช่นกัน
เมื่อต้นเดือนนี้ บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากนอร์เวย์ เทเลนอร์ (Telenor) ได้ขายกิจการในเมียนมาเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยของพนักงาน และความไร้เสถีรภาพทั้งในทางการเมืองและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นการถดถอยครั้งใหญ่ของรัฐบาลทหารเมียนมา
องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติ หรือ FAO เตือนว่า เวลานี้ชาวเมียนมาหลายล้านคนกำลังเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะอดอยากหิวโหยภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารโลกเกรงว่า สถานการณ์ที่ยากลำบากในเมียนมาขณะนี้อาจทำให้ความพยายามสร้างการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา สูญหายไปในพริบตา