Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ศึกษาวิเคราะห์ผลการวิจัย 18 ชิ้นที่ทำมาในช่วง 12 ปีก่อนหน้านี้ โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมในการวิจัยรวมกว่า 2,000,000 คน และได้ข้อสรุปว่า วิตามินรวม หรือ multivitamins ไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดหัวใจดีขึ้นแต่อย่างใด
รายงานนี้เป็นการยืนยันผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่เคยมีมาก่อนแล้ว เรื่องผลของวิตามินรวมต่อสุขภาพหัวใจ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีผลการวิจัยออกมาหลายชิ้นแล้วก็ตาม แต่ในขณะนี้มีคนอเมริกันถึงราว 30% ที่ทานวิตามินรวมเป็นประจำ และยอดขายวิตามินรวมแต่ละปีก็มีมูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์
และคาดว่าในอีกหกปีต่อจากนี้ ยอดขายรวมของตลาดวิตามินอาจจะสูงถึง 278 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
น.พ. Erin Michos หัวหน้านักวิจัยและเป็นผู้สอนอยู่ที่โรงพยาบาล Johns Hopkins ของสหรัฐฯ อธิบายว่า คนส่วนใหญ่ทานวิตามินรวมเพราะรู้สึกดีหรือคิดว่าช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ทั้งๆ ที่โดยทั่วไปแล้ว ไม่มียาเม็ดหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดๆ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นยาวิเศษ ซึ่งจะสามารถทดแทนการทานอาหารที่หลากหลายครบหมวดหมู่ ซึ่งประกอบด้วยผัก ผลไม้ รวมทั้งการใช้ชีวิตที่ช่วยให้มีสุขภาพดี เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นต้น
นอกจากนั้น ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการทานวิตามินรวมก็คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในสหรัฐฯ ไม่จัดว่าเป็นยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงไม่อยู่ใต้การควบคุมขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ
ผลการศึกษาหลายชิ้นได้พบว่า เกือบ 50% ของวิตามินรวม ไม่ได้ประกอบด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ ตามที่โฆษณาไว้
นอกจากนั้น วิตามินหรือเกลือแร่บางอย่าง เช่น วิตามินเอ วิตามินอี และวิตามินเค หากทานมากไปอาจไปสะสมในตับจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพได้
นักวิจัยจึงเตือนว่า ถ้าใครคิดว่าตัวเองมีวิตามินไม่พอหรือบกพร่องวิตามินตัวใด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเลือด และวิเคราะห์ว่าเราพร่องวิตามินตัวใด แล้วจึงรับวิตามินเฉพาะด้านเพื่อเสริมสิ่งที่ขาดไปจะดีกว่า