Your browser doesn’t support HTML5
นาทีนี้แวดวงหนังอินเดียกำลังอยู่ในสายตาของผู้คนทั่วโลก กับการเคลื่อนไหวของชาวอินเดีย ที่มีกระแสต่อต้านภาพยนตร์อิงตำนานเก่าแก่ของอินเดีย "ปัทมาวัต" (Padmaavat) ที่นำไปสู่เหตุประท้วงรุนแรง รวมทั้งคำขู่ฆ่านักแสดงนำและผู้กำกับเรื่องนี้
Padmaavat หยิบยกตำนานเล่าขานในยุคกลางของอินเดีย ช่วงศตวรรษที่ 13 ว่า ปัทมาวตี ราชินีผู้ทรงสิริโฉมงดงามของกษัตริย์ Maharawal Ratan Singh แห่งอาณาจักรจิตตอร์ (Chittor) ความสิริโฉมของราชินีเป็นที่เลื่องลือไปถึงสุลต่านอลาอุดดิน คิลจิ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้นางมาครอบครอง นำไปสู่เรื่องราวการต่อสู้เพื่อความรักและศักดิ์ศรีระหว่าง 2 อาณาจักร
Padmaavat ในมือของผู้กำกับดังแห่งบอลลีวู้ด Sanjay Leela Bansali ที่ฝากผลงานไว้มากมาย มาคราวนี้เขาเลือกนักแสดงคู่บุญ Deepika Padukone นักแสดงสาวที่ค่าตัวสูงสุดในบอลลีวู้ดขณะนี้ มารับบทราชินีปัทมาวดี Ranveer Singh มาสวมบทสุลต่าน อลาอุดดิน คิลจิ และได้ Shahid Kapoor มารับบท Maharawal Ratan Singh
ผู้วิจารณ์ยอมรับว่าสนใจเรื่องนี้เพราะข่าวอื้อฉาวล้วนๆ ซึ่งมีกระแสข่าวว่านักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นชาวฮินดู ถึงขั้นตั้งค่าหัวหลักล้านรูปีเพื่อสังหารนักแสดงนำ Deepika Padukone และผู้กำกับ หลังคาดการณ์ว่าจะมีฉากรักวาบหวามระหว่างราชินีปัทมาวดีกับสุลต่านคิลจิ
แต่คาดว่าจากการตัดบางช่วงบางตอนของภาพยนตร์เพื่อให้เข้าฉายในอินเดียและทั่วโลกได้ ทำให้เนื้อหาเน้นไปที่ความชาญฉลาดของราชินี ในการใช้ความงดงามของราชินีเป็นอาวุธเพื่อให้ศัตรูแพ้พ่าย ซึ่งถือเป็นการเน้นบทบาทของผู้หญิงในสังคมอินเดียได้ดี
อย่างไรก็ตาม ในอดีตก็มีธรรมเนียมอันเจ็บปวด ว่าด้วยการเผาตัวตายของสตรีเพื่อไม่ให้ศัตรูได้ครอบครอง และสิทธิของสตรีอินเดีย ที่เมื่อแต่งงานไปแล้วร่างกายและจิตวิญญาณจะตกเป็นของสามี ถึงขั้นต้องขออนุญาตสามีเพื่อปลิดชีพตัวเอง
สำหรับความคาดหวังในหนังอินเดียที่จะมีฉากระบำสวยงาม ก็ถือว่าทำได้สวยงามตระการตา ผู้วิจารณ์ชื่นชอบมุมภาพหลายฉากที่คาดไม่ถึงว่าบอลลีวู้ดจะไปไกลขนาดนี้ อย่างฉาก hand-held ในป่าที่ทำได้สวยงามประณีต ขณะเดียวกันทำให้ต้องเอาใจช่วยเธอไปตลอดการไล่ล่าด้วย ส่วนบทพูดและการดำเนินเรื่องบางฉากดูยืดเยื้อไปนิด ซึ่งคาดว่าเป็นการตอบสนอง “รสนิยม” คอหนังในอินเดีย
โดยรวมแล้ว Padmaavat ไม่น่าจะเป็นภาพยนตร์ที่จุดชนวนความขัดแย้งรุนแรงได้เหมือนที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อวงการหนังเลือกที่จะเล่นกับศาสนา ปรัชญา และความเชื่อแล้ว ก็ต้องยอมรับกับกระแสสนับสนุนและต่อต้านที่ตามมาด้วยเช่นกัน